วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ข้าวนาเช่าเริ่มตั้งท้องและออกรวง

การตรวจแปลงนาในวันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2556 ตรวจพบข้าวสินเหล็กออกรวงราวสิบกว่าต้นโดยพบออกรวงมากในแปลงที่ 10 พบบ้างในแปลงที่ 7, 8, 9, 11 และ 12 และพบข้าวสินเหล็กทุกแปลงเริ่มตั้งท้องแล้ว โดยข้าวที่พบการออกรวงมี 4 ลักษณะ คือ

1. ข้าวสินเหล็กแบบที่ 1 ต้นข้าวมีกาบใบสีม่วงแดง มีหูใบ(auricle) หรือเขี้ยวกันแมลงและลิ้นใบ(ligule) หรือเยื่อกันน้ำฝนสีขาว เมล็ดข้าวสีเขียว ปลายเมล็ดสีม่วงแดงเข้มถึงดำ



2. ข้าวสินเหล็กแบบที่ 2 ต้นข้าวมีกาบใบสีเขียว มีหูใบ(auricle) หรือเขี้ยวกันแมลงและลิ้นใบ(ligule) หรือเยื่อกันน้ำฝนสีม่วงแดง เมล็ดข้าวสีม่วงแดง ปลายเมล็ดสีม่วงแดงถึงดำ



3. ข้าวที่มีต้นข้าวสีเขียว กาบใบสีเขียว ให้เมล็ดสีเขียวทั้งเมล็ด


4. ข้าววัชพืช ที่จะต้องกำจัดออกจากแปลงนา ต้นสูงกว่าข้าวทั่วไป เมล็ดข้าวสีเขียวมีหางยาวหรือสั้น


 ข้าววัชพืช คืออะไร ต่างกับข้าวทั่วไปอย่างไร

ข้าวที่ชาวนาใช้ปลูกทั่วไป  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryza  sativa L. ใช้ปลูกในประเทศไทยมากกว่า 100 พันธุ์  เรียกในที่นี้ว่าข้าวปลูก  เป็นพันธุ์ข้าวที่ถูกคัดเลือกให้มีลักษณะที่ต้องการเช่นผลผลิตสูง  ข้าวสารมีสีขาว ใส คุณภาพหุงต้มนุ่มและหอม  ไปจนถึงร่วนแข็ง  ต้านทานต่อโรคหรือแมลงที่สำคัญ  ข้าวพันธุ์หนึ่งจะมีลักษณะทางการเกษตรต่างๆ  เหมือนกันและคงตัว  คือในพันธุ์เดียวกันจะมีลักษณะ  สีใบ ทรงกอ  ความสูง การออกรวง  สีเปลือก  สีข้าวกล้อง เหมือนกันและคงตัว   และทุกพันธุ์จะมีลักษณะสำคัญคือเมล็ดจะสุกแก่ใกล้เคียงกันคือหลังบานดอกแล้ว ประมาณ 28-30 วัน  พร้อมที่จะถูกเก็บเกี่ยวและถูกนวดให้หลุดจากรวง  คือจะไม่สุกแก่ก่อนเวลาไม่หลุดร่วงเองได้ง่ายๆ  และข้าวเปลือกจะไม่มีหางหรือถ้ามีก็จะสั้นมาก

ข้าวป่าเป็นบรรพบุรุษของข้าวที่ใช้ปลูกใน ปัจจุบัน  เป็นข้าวอีกชนิดหนึ่งที่มีตามธรรมชาติทั้งในที่ลุ่มลึกและบนที่ดอน  ข้าวป่ามีหลายชนิดและที่มีความสำคัญและคาดว่าจะเป็นเชื้อพันธุ์ของข้าว วัชพืชมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Oryza  rufipogon Griff.   ข้าวป่าแม้จะสามารถแบ่งเป็นหลายชนิด  ในแต่ละชนิดจะมีหลายลักษณะ  แต่มีลักษณะสำคัญหลายประการที่มีในข้าวป่าทุกชนิดคือ  เมล็ดในรวงเดียวกันสุกแก่ไม่พร้อมกันตั้งแต่ 9-30 วัน  เมื่อสุกแก่ก็จะหลุดร่วงได้เอง  เมล็ดมีระยะพักตัวหลากหลายตั้งแต่ไม่มีระยะพักตัวไปจนถึงระยะพักตัวหลายปี  เมล็ดข้าวเปลือกและข้าวกล้องของข้าวป่าจะมีหลากหลายสี  เมล็ดอาจมีหางยาวมากกว่า 10 เท่าตัวของเมล็ด และมีหลายสี

“ข้าววัชพืช” มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า weedy rice เป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงในนาภาคกลางจนถึงภาคเหนือตอนล่าง มีลักษณะเหมือนต้นข้าวจนแยกไม่ออกในระยะกล้า  มีชื่อเรียกต่างๆกันไปในแต่ละท้องถิ่นตามลักษณะของข้าววัชพืชที่ปรากฏเช่น ข้าวหาง เนื่องเมล็ดมีหางยาว  ข้าวดีด ข้าวเด้ง เนื่องจากเมื่อเมล็ดแก่ และถูกลมพัดหรือคนไปสัมผัส เมล็ดจะร่วง ข้าวลาย เนื่องเมล็ดมีเปลือกลาย ข้าวแดง เนื่องจากเมื่อแกะเมล็ดจะพบว่าเมล็ดข้าวกล้องมีสีแดง  ดาวกระจาย เนื่องจากลักษณะรวงจะกางออกและเมื่อเมล็ดแก่จะร่วงและกระจายไปรอบๆ เป็นต้น เคยระบาดในประเทศไทยที่จังหวัดสงขลานครศรีธรรมราช  ปราจีนบุรี  และพิษณุโลกในปี 2518 ความเสียหายที่จังหวัดปราจีนบุรี  ทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่า 80% แต่ก็มีการจัดการได้ซึ่งสมัยนั้นโดยการเผาฟาง เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ การเขตกรรมโดยการไถล่อข้าววัชพืชหลายครั้ง เนื่องจากชาวนายังทำนาปีละ  1  ครั้งเท่านั้น  และพบการระบาดรุนแรงอีกครั้งเมื่อปี 2544 ที่จังหวัดกาญจนบุรี จนถึงปัจจุบัน ข้าววัชพืชขยายวงกว้างของการระบาดออกไปเรื่อย ๆ จากการสำรวจข้อมูลการระบาดของข้าววัชพืชในฤดูนาปี 2550 พบการระบาดในพื้นที่นาของประเทศไทยถึง  19.2  ล้านไร่
 
ความแตกต่างของ ข้าวปลูก ข้าวป่า และข้าววัชพืช 

ข้าวปลูก
ข้าวป่า
ข้าววัชพืช
เมล็ดยาว
เมล็ดสั้นป้อม
เมล็ดสั้นป้อม - เมล็ดยาว
ไม่มีหาง
หางยาวกว่า 10 เท่าของเมล็ด
ไม่มีหาง-หางยาว
ออกรวงใกล้เคียงกัน
ออกรวงไม่พร้อมกัน
ออกรวงไม่พร้อมกัน
สุกแก่พร้อมกันทั้งรวง
สุกแก่ไม่พร้อมกันทั้งรวง
สุกแก่ไม่พร้อมหรือพร้อมกัน
ข้าวเต็มเมล็ด> 95 %
ข้าวเต็มเมล็ด 5-10 %
ข้าวเต็มเมล็ด 50-95 %
เมล็ดร่วงยากปานกลาง
เมล็ดร่วงง่าย
เมล็ดร่วงง่าย-ร่วงยาก
เมล็ดพักตัว6-8 สัปดาห์
เมล็ดพักตัว 3 เดือน - 10 ปี
เมล็ดพักตัว ไม่พักตัว - 10  ปี

ข้าววัชพืชเกิดขึ้นได้อย่างไร

จากการศึกษาของหลายหน่วยงานพบว่า ข้าววัชพืชเกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวป่าธรรมชาติ  (O. rufipogon L.) กับข้าวปลูก และมีการกระจายตัวของลูกหลานออกเป็นหลายลักษณะ  โดยอัตราการผสมข้ามระหว่างข้าวปลูกกับข้าวป่า และระหว่างข้าวปลูกกับข้าววัชพืช ลูกผสมที่กระจายตัวและเจริญแพร่พันธุ์ในแปลงปลูกมีลักษณะส่วนใหญ่ไม่เป็นที่ ต้องการของชาวนา

การจำแนกข้าววัชพืช

สามารถจำแนกตามลักษณะภายนอกของข้าววัชพืชได้เป็น 3 ลักษณะ  ดังนี้

- 1. ข้าวหางหรือข้าวนก
คือข้าววัชพืชที่มีลักษณะเมล็ดข้าวเปลือกสีดำหรือสึน้ำตาลเข้ม  มีหางยาว  หางอาจจะมีสีแดงหรือขาวในระยะข้าวยังสด  เมล็ดร่วงก่อนเก็บเกี่ยว  สีของเยื่อหุ้มเมล็ดมีทั้งแดงไปจนถึงขาว



- 2. ข้าวแดงหรือข้าวลาย
คือข้าววัชพืชที่มีลักษณะสีข้าวเปลือกมักมีสีเข้มไปจนถึงลายสีน้ำตาลแดง  เมล็ดข้าวเปลือกส่วนใหญ่ไม่มีหาง  เมล็ดมีทั้งร่วงและไม่ร่วงก่อนเก็บเกี่ยว  แต่สีของเยื่อหุ้มเมล็ดส่วนใหญ่มีสีแดง




- 3. ข้าวดีดหรือข้าวเด้ง
คือข้าววัชพืชที่มีลักษณะร่วงง่ายและร่วงเร็วโดยทยอยร่วงตั้งแต่หลังบานดอก 9 วันเป็นต้นไป  เมล็ดข้าวเปลือกส่วนใหญ่มีหางสั้นหรือไม่มีหาง  ข้าวเปลือกส่วนใหญ่มีสีเหลืองฟาง  สีของเยื่อหุ้มเมล็ดมีทั้งแดงและขาว



สาเหตุการแพร่ระบาดของข้าววัชพืช  
                            
การแพร่ระบาดของข้าววัชพืช  มาจากสาเหตุ 5 ประการ คือ
1. ติดมากับเมล็ดพันธุ์ข้าวเนื่องจากเกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวจากแหล่งไม่มีคุณภาพ ในรอบ 1 ปี ชาวนามีความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณกว่า  1  ล้านตัน แต่หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เชื่อถือได้   ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ได้มาตรฐานได้ไม่เกิน  15  % ของความต้องการของชาวนาเท่านั้น อีก 85 % ชาวนาจำเป็นต้องเสี่ยงในการหาซื้อเมล็ดพันธุ์เองตามร้านค้าและแหล่งผลิต เอกชน  ซึ่งอาจจะไม่ได้มาตรฐานและมีเมล็ดข้าววัชพืชติดมาด้วย
2. ติดมากับอุปกรณ์ในการทำนา เครื่องมือเตรียมดิน,  เก็บเกี่ยวหรือภาชนะบรรจุข้าว โดยเฉพาะรถเกี่ยวนวดข้าว  เมื่อไปเกี่ยวข้าวในแปลงที่มีการระบาดของข้าววัชพืชรุนแรง เมล็ดข้าวที่ติดมากับรถเกี่ยวนวด มีจำนวนประมาณ  2-5  ถัง ซึ่งมีโอกาสที่เมล็ดข้าววัชพืชติดมาด้วย และมาร่วงหล่นในนาแปลงใหม่ที่รถเกี่ยวนวดข้าวลงทำงาน
3. ติดมากับปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ที่ผลิตจากวัสดุที่ได้มาจากนาข้าว เช่น ฟาง แกลบ ขี้เถ้าแกลบ หน้าดินผสมจากท้องนา ซึ่งเมล็ดข้าววัชพืชมีคุณสมบัติอยู่ได้นานในสภาพต่าง ๆ
4. การแพร่ไปกับน้ำ ในระบบชลประทาน (ข้าวหาง ข้าวครึ่งเมล็ด) ลอยไปกับน้ำลงสู่แปลงนาได้
5. ติดไปกับอาหารเสริมของเป็ดที่ปล่อยในนาข้าว ส่วนใหญ่เป็นข้าวเปลือกที่มีราคาถูก มีสิ่งเจือปน

ลักษณะของข้าววัชพืชที่ทำให้เป็นปัญหาร้ายแรง

ดังได้กล่าวมาแล้วว่าข้าววัชพืชมีลักษณะต่างๆที่คล้ายหรือแตกต่างกับข้าว ปลูกอย่างไรบ้าง แต่ลักษณะสำคัญที่ทำให้ข้าววัชพืชเป็นวัชพืชร้ายแรง ดังนี้
1. ข้าววัชพืชมีการเจริญเติบโตรวดเร็ว  มีความสามารถในการแข่งขันได้ดีกว่าข้าวปลูก  ข้าววัชพืชอาจมีความสูงมากกว่าข้าว  จึงมีความสามารถในการแก่งแย่งธาตุอาหารและแสงแดดมากกว่าข้าว  ข้าววัชพืชที่ต้นสูงจะล้มทับข้าวในระยะออกรวงทำให้ต้นข้าวปลูกเสียหาย
2. ข้าววัชพืชบางชนิดออกดอกเร็วกว่าข้าวปลูกและเมล็ดส่วนใหญ่ร่วงก่อน  จึงไม่ถูกเก็บเกี่ยวไปพร้อมกับข้าวปลูก  ทำให้มีเมล็ดสะสมอยู่ในแปลงนา  ซึ่งจะเพิ่มความหนาแน่นมากขึ้นในฤดูต่อไป
3. เมล็ดข้าววัชพืชที่ร่วงสะสมอยู่ในนามีระยะพักตัวหลากหลาย  จึงไม่ได้งอกพร้อมกันทั้งหมด  ทำให้ยากต่อการกำจัด
4. เมล็ดส่วนใหญ่ร่วงก่อนเก็บเกี่ยว  จึงไม่ถูกเก็บเกี่ยวไปพร้อมกับข้าวปลูก  ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์
5. เมล็ดข้าววัชพืชที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงปะปนไปกับผลผลิตข้าว  ทำให้ถูกตัดราคา

การป้องกันปัญหาข้าววัชพืช

แม้ว่าข้าววัชพืชจะเกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวปลูกกับข้าวป่าก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยง่าย ดังนั้นการป้องกันเมล็ดข้าววัชพืชจากแหล่งที่มีการระบาดแล้วไม่ให้เล็ดลอด เข้ามาในแปลงนาที่ยังไม่มีการปลอมปน และเพื่อไม่ให้เผชิญกับปัญหาข้าววัชพืช ดังนั้นชาวนาสามารถทำการป้องกันปัญหาข้าววัชพืชได้โดย
1. การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์มาตรฐานไม่มีข้าววัชพืชปลอมปน
2. ทำความสะอาดเครื่องจักรกลเกษตรก่อนการทำงานในแปลงทุกครั้ง
3. การใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ที่ไม่นำวัสดุจากนาข้าวมาผลิต หรือต้องมั่นใจว่าไม่มีข้าววัชพืชปนมา
4. น้ำชลประทานที่ผ่านท้องที่ที่มีการระบาดของข้าว วัชพืช อาจมีเมล็ดข้าววัชพืชลอยมากับน้ำได้  การใช้ตาข่ายกั้นทางน้ำก็จะป้องกันข้าววัชพืชได้

การกำจัดข้าววัชพืชโดยวิธีเขตกรรม 

การผสมผสานหลายวิธีการในทุกขั้นตอนของการทำนาดังต่อไปนี้  จะช่วยแก้ปัญหาข้าววัชพืชได้ไม่ต้องพึ่งพาสารกำจัดวัชพืชหรือสารเคมีใดๆ
1. การกำจัดเมล็ดข้าววัชพืชโดยล่อให้งอกแล้วไถกลบ        
การเตรียมดินโดยการไถ พรวน หรือคราดทำเทือก  ควรเว้นช่วง 2-4 สัปดาห์  เพื่อเว้นระยะเวลาให้เมล็ดข้าววัชพืชที่ยังเหลืออยู่ในดินได้มีโอกาสพ้นระยะ พักตัวมากขึ้น  โดยการมีขั้นตอนดังนี้ ปล่อยให้แปลงแห้งก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 10 วัน หลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้วปล่อยให้แห้งต่ออีก อย่างน้อย  1 สัปดาห์ แล้วเอาน้ำเข้าแปลงพอชื้น เพื่อให้เมล็ดข้าววัชพืชงอก ไถกลบ ปล่อยแปลงในสภาพชื้นต่ออีก 1-2  สัปดาห์ เพื่อให้เมล็ดข้าววัชพืชที่หลงเหลืออยู่งอกขึ้นมาอีก แล้วไถทิ้ง การล่อให้งอกแล้วไถกลบทำลายในแต่ละครั้งสามารถลดปริมาณข้าววัชพืชลงได้มาก กว่า 50 %
                                             
2. เปลี่ยนวิธีการปลูกข้าว
      - วิธีปักดำ การปักดำด้วยมือ ใช้เครื่องจักรตกกล้าปักดำ  หลังปลูกให้ขังน้ำทันทีระดับน้ำลึก 3-5 ซม.  จะป้องกันการงอกข้าววัชพืชได้  แต่ชาวนาต้องใช้เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์  และตกกล้าในแปลงนาที่ไม่มีข้าววัชพืชอยู่ก่อน  อย่างไรก็ตามแม้จะใช้วิธีปักดำและการขังน้ำอย่างมีประสิทธิภาพก็อาจยังมี ข้าววัชพืชงอกและเจริญเติบโตขึ้นมาได้  ทั้งนี้ข้าววัชพืชที่เจริญเติบโตขึ้นมาได้นี้จะอยู่นอกแถวหรือนอกกอของการ ปักดำ  ชาวนาจึงพบเห็นข้าววัชพืชได้สะดวกตั้งแต่ในระยะแรก  และสามารถถอนกำจัดเสียแต่ต้น
        -  การปลูกข้าวด้วยวิธีโยนกล้า ปลูกข้าวด้วยวิธีโยนกล้า เป็นการเพาะข้าวจำนวน 3-4 เมล็ดต่อหลุมลงในถาดพลาสติก มีหลุมขนาดเล็ก แต่ละหลุมบรรจุดินประมาณ  2.5  กรัม โดยใช้เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์เพียง  3-4  กิโลกรัม เพาะลงในถาดจำนวน  50-60 ถาด นำไปโยนได้  1  ไร่ อายุต้นกล้าที่เหมาะสม  12-16  วัน หลังโยนกล้า  1-2  วัน ให้ขังน้ำและเพิ่มระดับน้ำ 5-10 ซม. จะป้องกันการงอกของข้าววัชพืชได้ดี แต่เกษตรกรจะต้องเตรียมแปลงให้สม่ำเสมอ และข้อสำคัญอย่าให้นาขาดน้ำ

3. การตรวจตัดข้าววัชพืช
การตรวจตัดข้าววัชพืชเป็นการลดปัญหาไม่ให้ข้าววัชพืชผลิตเมล็ดสะสมในแปลงนา เพิ่มขึ้น ในระยะแตกกอเริ่มเห็นความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน โดยจะสังเกตเห็นข้าววัชพืชส่วนใหญ่มีความสูงมากกว่า ลำต้นและใบมีสีอ่อนกว่าข้าวปลูก ระยะนี้ต้องใช้วิธีถอนต้นข้าววัชพืชทิ้ง พอถึงระยะออกดอกจะเห็นความแตกต่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยข้าววัชพืชส่วนใหญ่จะออกดอกก่อนข้าวปลูก ระยะนี้ต้องใช้วิธีตัดชิดโคนต้นข้าววัชพืช แล้วนำไปทิ้งนอกแปลง เนื่องจากข้าววัชพืชงอกไม่พร้อมกันจึงแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างข้าว ปลูกกับข้าววัชพืช
4. การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง                                                    
การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งสามารถลดปริมาณเมล็ดข้าววัชพืชที่หลุดร่วงอยู่บนผิวดิน ได้ โดยเป็ด 200 ตัว/ไร่ ปล่อยไว้เป็นเวลา 2 วัน สามารถลดความหนาแน่นข้าววัชพืชได้ถึง 50 %

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.brrd.in.th/rkb/weed/index.php-file=content.php&id=43.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น