วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สถานการณ์โรคใบไหม้ การป้องกันและแก้ไข

จากการเก็บข้อมูลแปลงนาในวันที่ 19 สิงหาคม ตรวจพบการกระจายตัวของโรคใบไหม้ในหลายแปลง พบอาการที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบในสัปดาห์ก่อน  ใบเหี่ยวแห้ง ใบตก บางต้นใบขาดร่วงจากกาบใบ



ตอนนี้กำลังขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.) ที่จัดซื้อมาและจะฉีดพ่นเชื้อสดที่ได้จากการขยายลงในแปลงนาเพื่อควบคุมโรคข้าวที่มีสาเหตุมาจากเชื้อรา เป็นการประยุกต์ใช้หลักความสัมพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตแบบเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ( Antagonism) ในการควบคุมโรคพืช






ความสัมพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตแบบปฏิปักษ์ต่อกัน ( Antagonism) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียประโยชน์หรือเสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ได้แก่

1. ภาวะปรสิต ( Parasitism : + , -) หมายถึง การอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด โดยฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ เรียกว่า ปรสิต ( parasite) อีกฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์เรียกว่าผู้ถูกอาศัย( host) เช่น
- เห็บ เหา ไร หมัด บนร่างกายสัตว์ : ปรสิตภายนอก ( ectoparasite) เหล่านี้ดูดเลือดจากร่างกายสัตว์จึงเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ ส่วนสัตว์เป็นฝ่ายเสียประโยชน์
- พยาธิ ในร่างกายสัตว์ :ปรสิตภายใน (endoparasite) จะดูดสารอาหารจากร่างกายสัตว์จึงเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ส่วนสัตว์เป็นฝ่ายเสียประโยชน์

2. ภาวะล่าเหยื่อ ( Predation : + , -) หมายถึง การอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตโดยฝ่ายหนึ่งจับอีกฝ่ายหนึ่งเป็นอาหาร เรียกว่า ผู้ล่า (predator) ส่วนฝ่ายที่ถูกจับเป็นอาหารหรือถูกล่า เรียกว่า เหยื่อ ( prey) เช่น
-กบกับแมลง :กบเป็นผู้ล่า แมลงเป็นผู้ถูกล่า
-เหยี่ยวกับหนู:เหยี่ยวเป็นผู้ล่าส่วนหนูเป็นผู้ถูกล่า

3. ภาวะแข่งขัน ( Competition : - ,-) หมายถึง การอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตที่มีการแย่งปัจจัยในการดำรงชีพเหมือนกันจึงทำให้เสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เช่น เสือ , สิงโต , สุนัขป่าแย่งชิงกันครอบครองที่อยู่อาศัยหรืออาหารพืชหลายชนิดที่เจริญอยู่ในบริเวณเดียวกัน เป็นต้น

4.  ภาวะหลั่งสารยับยั้งการเจริญ ( Antibiosis : 0 , -) หมายถึง การอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหลั่งสารมายับยั้งการเจริญของแบคทีเรียสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน บางชนิดหลั่งสารพิษ เรียกว่า hydroxylamine ทำให้สัตว์น้ำในบริเวณนั้นได้รับอันตราย

เชื้อราปฏิปักษ์

เชื้อราปฏิปักษ์ หมายถึงเชื้อราที่มีความสามารถในการต่อสู้กับศัตรูพืชได้ ซึ่งมีหลายประเภท คือ เชื้อราที่ต่อสู้กับแมลง โดยสามารถเข้าทำลายแมลง หรือเชื้อราที่เข้าทำลายเชื้อราก่อโรคในพืชหลายชนิด เช่น เชื้อราโรคเหี่ยว เป็นต้น โรครากและโคนเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อราเป็นโรคที่พบได้บ่อยในการปลูกมะเขือม่วง การนำเชื้อราปฏิปักษ์มาใช้จะช่วยควบคุมโรคดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงต่อผลผลิตและเกษตรกร เชื้อราปฏิปักษ์ที่รู้จักกันดีคือ เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.)

เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราชั้นสูงที่ดำรงชีวิตอยู่ในดิน อาศัยเศษซากพืช ซากสัตว์และอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร เจริญได้รวดเร็วบนอาหารเลี้ยงเชื้อราหลายชนิด สร้างเส้นใยสีขาวและผลิตส่วนขยายพันธุ์ที่ เรียกว่า “โคนิเดีย” หรือ “สปอร์” จำนวนมากรวมเป็นกลุ่มหนาแน่นจนเห็นเป็นสีเขียว เชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นศัตรู (ปฏิปักษ์) ต่อเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิดโดยวิธีการเบียดเบียน หรือเป็นปรสิต และแข่งขันหรือแย่งใช้อาหารที่เชื้อโรคต้องการ นอกจากนี้เชื้อราไตรโคเดอร์มายังสามารถผลิตปฏิชีวนสาร และสารพิษ ตลอดจนน้ำย่อยหรือเอนไซม์สำหรับช่วยละลายผนังเส้นใยของเชื้อโรคพืช คุณสมบัติพิเศษของเชื้อราไตรโคเดอร์มาคือ สามารถช่วยละลายแร่ธาตุให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จึงช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและชักนำให้ต้นพืชมีความต้านทานต่อเชื้อโรคพืชทั้งเชื้อราและแบคทีเรียสาเหตุโรค

จากผลการดำเนินงานวิจัยตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึงปัจจุบัน สามารถคัดเลือกเชื้อราไตรโคเดอร์มาจากดินในธรรมชาติได้หลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ CB-Pin-01 มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคของพืชเศรษฐกิจต่างๆทั้งพืชไร่ ไม้ผล พืชผัก และไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิดได้ในสภาพแปลงเกษตรกร ทั้งโรคที่เกิดบนส่วนของพืชที่อยู่ใต้ดิน เช่น โรคเมล็ดเน่า โรคเน่าระดับดิน (โรคกล้ายุบ) รากเน่า หัวหรือแง่งเน่า และโคนเน่า เป็นต้น โรคที่เกิดบนส่วนของพืชที่อยู่เหนือดินไม่ว่าจะเป็นส่วนของ กิ่ง ผล ใบ หรือดอก เช่น โรคลำต้นไหม้ของหน่อไม้ฝรั่ง โรคแคงเกอร์ของมะนาว โรคราดำของมะเขือเทศ โรคใบปื้นเหลืองและโรคดอกสนิมของกล้วยไม้ โรคแอนแทรคโนสของมะม่วงและพริกทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากนี้ยังสามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรครากเน่าของพืชผักสลัดและ ผักกินใบต่างๆที่ปลูกในสารละลายธาตุอาหาร (ระบบไฮโดรโพนิกส์) และจากผลการวิจัยล่าสุดพบว่าการแช่เมล็ดข้าวเปลือกก่อนใช้หว่านลงในนาข้าว ช่วยลดการเกิดโรคเมล็ดด่าง เมล็ดลีบ ของข้าวที่เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราหลายชนิด ตลอดจนช่วยเพิ่มความสมบูรณ์และน้ำหนักเมล็ด และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ด้วย

กลไกในการต่อสู้กับเชื้อสาเหตุโรคพืชของเชื้อราไตรโคเดอร์มา มีอยู่ 4 ประการ คือ
1. การแข่งขันกับเชื้อโรคพืช ( Competition : - ,-) ด้วยเหตุที่เชื้อราไตรโคเดอร์มาเจริญสร้างเส้นใยได้รวดเร็ว สามารถสร้างสปอร์ได้ในปริมาณสูงมาก โดยอาศัยอาหารจากเศษวัสดุอินทรีย์ต่าง ๆ จึงช่วยให้เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถแข่งขันกับเชื้อโรคพืชหรือจุลินทรีย์ ที่อยู่บริเวณเดียวกัน
2. การเป็นปรสิตต่อเชื้อโรคพืช ( Parasitism : + , -)  เชื้อราไตรโคเดอร์มาบางสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกแล้วสามารถพันรัด แล้วแทงส่วนของเส้นใยเข้าสู่ภายในเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคพืชทำให้เส้นใยตาย
3. การสร้างสารยับยั้งหรือทำลายเชื้อโรคพืช  ( Antibiosis : 0 , -) เชื้อราไตรโคเดอร์มาบางสายพันธุ์สามารถสร้างปฏิชีวนสาร สารพิษ และน้ำย่อย (เอนไซน์) เพื่อหยุดยั้งหรือทำลายเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคพืชได้
4. การชักนำให้พืชมีความต้านทานโรค เชื้อราไตรโคเดอร์มาบางสายพันธุ์สามารถชักนำให้พืชสร้างกระบวนการผลิตสาร ประเภทเอนไซม์หรือโปรตีน ซึ่งมีส่วนช่วยให้พืชเกิดความต้านทานต่อเชื้อโรคได้

ประโยชน์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มา
1. ช่วยลดกิจกรรมของเชื้อโรคพืชได้ ยับยั้งและทำลายการงอกของสปอร์ แข่งขันการใช้อาหารเพื่อการเจริญของเส้นใยเชื้อโรคพืช รบกวนกิจกรรมต่าง ๆ ของเชื้อโรคทำให้ความรุนแรงลดลง
2. ช่วยลดปริมาณเชื้อโรคพืช ทำลายเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคพืชโดยการพันรัดและแทง ทำลายโครงสร้างที่เชื้อโรคสร้างขึ้นสำหรับการขยายพันธุ์ ทำลายโครงสร้างที่เชื้อโรคพืชสร้างขึ้นเพื่ออยู่ข้ามฤดูกาล
3. ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตของพืช เชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันระบบรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อรา สาเหตุโรคพืช ทำให้ระบบรากพืชสมบูรณ์แข็งแรง เชื้อราไตรโคเดอร์มาผลิตสารเร่งการเจริญเติบโตของพืชได้ เชื้อราไตรโคเดอร์มาช่วยให้เมล็ดงอกและเจริญเติบโตดี
4. ช่วยเพิ่มความต้านทานโรคของพืช กระตุ้นให้เกิดความต้านทานโรคขึ้นภายในพืช พืชที่มีระบบรากดี เจริญเติบโตดี แข็งแรง จึงต้านทานโรคได้ดีขึ้น

การควบคุมราที่ทำให้เกิดโรคของเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า
1. สามารถควบคุมราที่ทำให้เกิดโรคพืชได้หลายชนิดเช่น เชื้อราพิเทียม ทำให้เกิดรากเน่า โคนเน่า โรคยอกเน่าของต้นกล้าในพืชไร่
2. เชื้อราไฟท็อบเทอร่า ทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล
3. เชื้อสคลอโรเทียม ทำให้เกิดโรคกล้าไหม้ ราเม็ดผักกาด โรคเหี่ยวในพืชผัก
4. เชื้อราฟิวซาเรียม ทำให้เกิดโรคเหี่ยวในไม้ดอก
5. เชอราไรซ็อกโตเนีย ทำให้เกิดโรคเน่าคอดิน

วิธีเก็บรักษาหัวเชื้อ 
เก็บไว้ในตู้เย็น ( ประมาณ 8-10 องศาเซลเซียส ) สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 1 ปี ถ้าเก็บที่อุณหภูมิในห้องปกติ สามารถเก็บไว้ได้นาน 6 เดือน

วิธีการขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด 
    1. ใช้ปลายข้าวหรือข้าวสาร(ควรเป็นข้าวแข็ง) 3 แก้ว (1แก้วมีความจุประมาณ 250 ซีซี ) ประมาณ 600 กรัม ใส่น้ำสะอาด 2 แก้วหรือ ประมาณ0.5ลิตรหุงด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเมื่อสุกแล้วจะได้ข้าวสุก (ประมาณ 1 กิโลกรัม)
    2. ตักข้าวที่หุงสุกใหม่ๆใส่ถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 8*12นิ้ว ถุงละ 2แก้วน้ำ (ประมาร 250-300 กรัม ) รีดอากาศออกจากถุงแล้ว พับปากถุงไว้ รอให้ข้าวอุ่นหรือเก็บเย็น จึงเทหัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาใส่ลงในถุงพลาสติก (หัวเชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 ขวด บรรจุ 20 กรัม ใส่ในข้าวสุกได้จำนวน 16 ถุง รวมทั้งหมด 4 กิโลกรัม )
    3. หลังใส่หัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาแล้ว มัดปากถุงด้วยหนังยางให้แน่น (มัดให้สุดปลายถุง) เขย่าหรือขยำเบาๆให้หัวเชื้อคลุกเค้ากับข้าวสุกทั่วทั้งถุง ใช้ปลายเข็มเจาะถุงพลาสติกใต้หนังยางที่มัดเล็กน้อย ประมาณ 15-20 จุดต่อถุง (เพื่อให้มีอากาศถ่ายเท เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อราไตรโคเดอร์มา) แล้วแผ่ข้าวสุกให้แบนราบ
    4. บ่มเชื้อไว้ในที่มีอากาศถ่ายเท มีแสงสว่างส่องถึง ไม่ตากแดด ปลอดภัยจากมด ไร และสัตว์อื่นๆ เมื่อครบ 2 วันขยำถุงเบาๆ เพื่อให้เส้นใยของเชื้อกระจายทั่วทั้งถุง บ่มถุงเชื้อต่ออีก 4-5 วันก่อนนำไปใช้ เมื่อบ่มเชื้อครบ 7 วันแล้ว ถ้ายังไม่ใช้ต้องเก็บถุงเชื้อไว้ในตู้เย็น แต่ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 15 วัน
    คำแนะนำ : ในการบ่มเชื้อ ถ้าวางถุงเชื้อในที่มีแสงสว่างน้อย ควรเพิ่มแสงด้วยการติดตั้งหลอดฟลูออเรสเซนต์(หลอดนีออน) ช่วยโดยให้แสงสว่างนาน 12 ชั่งโมง/วัน หรือตลอด24ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นการสร้างสปอร์ของเชื้อ เชื้อที่ขึ้นดีจะมีสีเขียวเข้ม
    คำเตือน : ต้องขยายเชื้อโดยใช้หัวเชื้อบริสุทธิ์เท่านั้น ไม่ควรต่อเชื้อจากเชื้อที่ขยายแล้ว เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น และเชื้อที่ขยายต่อจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคพืชลดลง

วิธีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด
การใช้ราไตรโคเดอร์มาชนิดสดผสมกับปุ๋ยอินทรีย์  ใช้เชื้อสดผสมกับรำข้าวละเอียดและปุ๋ยอินทรีย์(ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอกเก่า)ในอัตราส่วน1:4:100โดยน้ำหนักโดย
    - เติมรำข้าวเล็กน้อยลงไปในถุงเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด คลุกเคล้าและบีบให้เชื้อที่เกาะเป็นก้อนแตกออก ต่อจากนั้นจึงเทเชื้อที่คลุกรำข้าวแล้วผสมกับรำข้าวที่เหลือให้ครบตามจำนวน แล้วคลุกให้เข้ากันอีกครั้ง
    - นำหัวเชื้อสดที่ผสมกับรำข้าว(อัตราส่วน 1:4โดยน้ำหนัก) ผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก100กิโลกรัม คลุกเคล้าจนเข้ากันอย่างทั่วถึง อาจพรมน้ำพอชื้นเพื่อลดการฟุ้งกระจาย

 เมื่อได้ส่วนผสมของเชื้อสดกับปุ๋ยอินทรีย์แล้วสามารถนำไปใช้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
    1. การผสมกับวัสดุปลูกสำหรับการเพาะกล้าในกระบะเพาะเมล็ดหรือถุงเพาะชำ ใส่ส่วนผสมของเชื้อสด ผสมดินปลูกอัตรา 1:4 โดยปริมาตร(20%)นำดินปลูกที่ผสมด้วยส่วนผสมของเชื้อสดแล้วใส่กระบะเพาะเมล็ด ถุง หรือกระถางปลูก
    2. การใส่หลุมปลูกพืช
    - ใช้ส่วนผสมของเชื้อสด อัตรา 10-20กรัม(1-2ช้อนแกง) ต่อหลุม โรยในหลุมก่อนการหยอดเมล็ดพืช
    - ใช้ส่วนผสมของเชื้อสดอัตรา10-20กรัมคลุกเคล้ากับดินในหลุมปลูกพืช ถ้าหลุมใหญ่อาจใช้50-100กรัม/หลุม
    3. การใช้เชื้อหว่านในแปลงปลูก หว่านส่วนผสมเชื้อสดลงบนแปลงปลูกก่อนการปลูกพืช ด้วยอัตรา 50-100กรัมต่อตารางเมตร หว่านส่วนผสมเชื้อสดลงบนแปลงปลูก ขณะที่พืชกำลังเจริญเติบโต และกำลังมีโรคระบาด ด้วยอัตรา 50-100ต่อตารางเมตร
    4. การใช้เชื้อหว่านใต้ทรงพุ่มหรือโรยโคนต้นพืช  หว่านส่วนผสมเชื้อสดทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่มจนถึงรอบชายพุ่มอัตรา50-100กรัมต่อตารางเมตร หรือโรยส่วนผสมเชื้อสด บริเวณโคนต้นพืชกรณีที่เกิดโรคโคนเน่า ด้วยอัตรา10-20กรัมต่อต้น

การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดคลุกเมล็ดพืช 
ใส่เชื้อสดลงในถุงพลาสติกที่จะใช้คลุกเมล็ดอัตรา 10 กรัม (1ช้อนแกง) ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม เติมน้ำ 10 ซีซี บีบเชื้อสดให้แตกตัวเทเมล็ด 1 กิโลกรัมลงในถุงแล้วเขย่าให้เชื้อสดคลุกเคล้าจนติดผิวเมล็ด นำเมล็ดออกผึ่งลมให้แห้งหรือใช้ปลูกได้ทันที

การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดผสมกับน้ำ 
ในกรณีที่ไม่สะดวกในการจัดหาปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และรำข้าวหรือกรณีที่ต้องการใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มาลงดินโดยไม่ประสงค์จะใส่ปุ๋ยอินทรีย์และรำข้าวลงไปในดินด้วย เนื่องจากไม่อยู่ในช่วงที่เหมาะสมสำหรับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดที่เตรียมไว้ผสมกับน้ำ ในอัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรหรือ 250 กรัม(เชื้อสด 1 ถุง)ต่อน้ำ 50ลิตรใช้น้ำเชื้อที่เตรียมได้ฉีดพ่นลงดินด้วยอัตรา 10-20 ลิตรต่อ100 ตารางเมตรสำหรับขั้นตอนการใช้เชื้อสดผสมน้ำมีดังนี้
    - นำเชื้อสดมา 1 ถุง(250กรัม) เติมน้ำลงไปในถุง 300มิลลิลิตร(ซีซี)หรือพอท่วมตัวเชื้อแล้วขยำเนื้อข้าวให้แตกออกจนได้น้ำเชื้อสีเขียวเข้ม
    - กรองน้ำเชื้อด้วยผ้าหรือกระชอนตาถี่ ล้างกากที่เหลือบนกระชอนด้วยน้ำอีกจำนวนหนึ่งจนเชื้อหลุดจากเมล็ดข้าวหมด เติมน้ำให้ครบ 50 ลิตร ก่อนนำไปใช้
    1. การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในกระบะเพาะกล้า กระถาง หรือถุงปลูกพืช
    - ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนกระบะเพาะหลังจาดหยอดเมล็ดแล้วหรือในระหว่างที่ต้นกล้ากำลังเจริญเติบโตโดยฉีดให้ดินเปียกฉุ่ม
    - ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในถุงหรือกระถางปลูกพืช ตั้งแต่เริ่มปลูกหรือในระหว่างที่พืชกำลังเจริญเติบโตโดยฉีดให้ดินเปียกชุ่ม
    2. การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในหลุมปลูกพืช
    - ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในหลุมปลูกพืชหลังจากเพาะเมล็ดแล้ว โดยฉีดพ่นให้ดินเปียกชื้น
    - ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในหลุมปลูกพืชหลังย้ายพืชลงปลูกแล้ว โดยฉีดให้ดินเปียกชื้น
    3. การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลงปลูกพืช
    - ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลงพืชหลังจากหว่านเมล็ด และคลุมแปลงด้วยฟางแล้วในอัตรา 10-20 ลิตร/100 ตารางเมตร และให้น้ำแก่พืชทันที
    - ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลงปลูก อัตรา 10-20 ลิตร/100ตารางเมตร ก่อนคลุมแปลงด้วยพลาสติกดำ
    - กรณีที่พืชกำลังเจริญเติบโตอยู่ให้ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลง ในอัตรา 10-20 ลิตร/100 ตารางเมตร
    4. การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดโคนต้นพืชและใต้ทรงพุ่ม
    - ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงตรงโคนต้นพืช และบนดินบริเวณรอบโคนต้นพืช โดยให้ผิวดินเปียกชื้น
    - ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนดิน ใต้บริเวณใต้ทรงพุ่มและขอบชายพุ่ม ให้ดินพอเปียกชื้น
 
ข้อควรคำนึง ควรฉีดพ่นในเวลาแดดอ่อน หรือเวลาเย็นกรณีที่บริเวณที่ฉีดพ่นไม่มีร่มเงาจากพืชเลย

การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าในนาข้าว
ครั้งที่ 1 แช่เมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยน้ำเปล่า 1 คืน จากนั้นแช่ด้วยน้ำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า นาน 30 นาที ยกขึ้นบ่มข้าวต่ออีก 1 คืน จึงนำไปหว่าน อัตราการใช้ เชื้อราโตรโคเดอร์ม่า 1 กิโลกรัม/น้ำ 50-100 ลิตร

ครั้งที่ 2 หลังหว่านข้าว 30 วัน ใส่เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า พร้อมการปล่อยน้ำเข้านา อัตราการใช้ เชื้อราโตรโคเดอร์ม่า 2 กิโลกรัม/ไร่

ครั้งที่ 3 ช่วงข้าวอายุ 40-50 วัน ใส่เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า พร้อมการปล่อยน้ำเข้านา อัตราการใช้ เชื้อราโตรโคเดอร์ม่า 2 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อควบคุมโรคกาบใบเน่า

ครั้งที่ 4 ช่วงข้าวอายุ 70-80 วัน ฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าให้ทั่วแปลงอัตราการใช้ เชื้อราโตรโคเดอร์ม่า 1 กิโลกรัม/น้ำ 100 - 200 ลิตร เพื่อควบคุมโรคใบจุด โรคใบไหม้

ครั้งที่ 5 ช่วงข้าวเริ่มโผล่ออกจากใบธงได้ 5% ฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าอัตราการใช้ เชื้อราโตรโคเดอร์ม่า 1 กิโลกรัม/น้ำ 100 ลิตร ให้ทั่วแปลงนา เพื่อควบคุมโรคใบขีดสีน้ำตาล โรคเมล็ดด่าง

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.ku.ac.th/e-magazine/april45/agri/trichoderma.html
http://www.kasettambon.com/viewtopic.php?f=2&t=100%EF%BB%BF
http://eduvc.oas.psu.ac.th/~user18/content%202.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น