วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สูบน้ำเข้านา

สัปดาห์ที่ผ่านมาฝนทิ้งช่วงทำให้ระดับน้ำในแปลงนาลดลง เราจึงสูบน้ำเข้านาเพื่อให้ปุ๋ยที่หว่านลงไปใหม่ละลายเพราะปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดจะละลายยากหน่อย และเรายังต้องการขังน้ำในแปลงนาเพื่อกำจัดวัชพืชที่ยังเหลืออีกทางหนึ่งด้วย แต่หลังจากครั้งนี้ไปสำหรับนาโรงเรียนที่เราสามารถควบคุมน้ำได้(มีแหล่งน้ำให้สูบเข้านา)เราจะเริ่มแกล้งข้าว คือใช้วิธีเปียกสลับแห้ง

                                                            การแกล้งข้าว

การแกล้งข้าว คือการกระตุ้นโดยใช้ระดับน้ำเพื่อดึงศักยยภาพของต้นขา้วตามธรรมชาติมาใช้ เพื่อการออกรากหาอาหาร การแตกกอ สร้างความแข็งแรงต้านทานโรค-แมลง สร้างผลผลิตอยา่งเต็มประสิทธิภาพ จากหลักการที่ว่าข้าวไม่ใช่พืชน้ำ แต่เป็นพืชทนน้ำขัง ความสามารถในการแตกกอ การเพิ่มผลผลิต จะลดลงถา้แช่น้าตลอดเวลา การปลูกข้าวที่มีการใช้น้ำแช่ไว้ในแปลงนาตลอดเวลาเพื่อควบคุมวัชพืช ผลที่ตามมาคือข้าวไม่กินปุ๋ย แตกกอน้อย เกิดนาหล่ม ต้นข้าวอ่อนแอต่อโรค ทำให้ถูกแมลงเข้าทำลายได้ง่าย เกษตรกรจึงต้องใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงจำนวนมาก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง และตัวเกษตรกรเองก็มีสุขภาพทรุดโทรม เทคนิคการปลูกข้าวระบบ เปียกสลับแห้งหรือแกล้งข้าว เป็นการปลูกข้าวที่ใช้น้ำน้อย ช่วยป้องกันเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และแก้ปัญหานาหล่ม ข้าวไม่ล้มตอนเกี่ยว หลักการที่ใช้คือ ไม่ต้องปล่อยน้ำแช่ไว้ในแปลงนาตลอดเวลา ให้ใช้ท่อวัดระดับน้ำไปติดตั้งไว้ในแปลงนาเพื่อดูระดับน้ำใต้ดิน โดยใช้ท่อพีวีซีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ยาว 25 เซ็นติเมตร เจาะรู 40 รู นำไปฝังในนาข้าว ให้ขอบท่ออยู่พ้นจากพื้นนา 5 เซนติเมตร เมื่อน้ำหน้าดินในนาแห้งให้ดูน้ำใต้ดินในท่อก่อน ถ้าน้ำยังลดลงไม่ถึง 15 เซ็นติเมตร ก็ยังไม่จำเป็นต้องให้น้ำ ถ้าลดลงเกิน 15 เซ็นติเมตรก็สูบน้ำเข้านาให้ระดับน้ำสูงเพียง 5-10 เซ็นติเมตร 

ข้อดีของการแกล้งข้าว

1.ความชื้นที่โคนกอข้าว ต่ำ อุณหภูมิหน้าผิวดิน จะสูงๆ ต่ำ ๆ เพลี้ยไม่ชอบ
2.ต้นข้าว จะไม่อวบน้ำ ผนังเซลล์จะแข็งแรง เพลี้ยไม่ชอบ
3.หน้าดินแตกระแหง รากข้าวได้ออกซิเจนมากขึ้น ทำให้ต้นข้าวแข็งแรง
4.ระบบราก ทำงานอย่างเต็มที่ มีการแตกกอดี
5.หน้าดินได้มีเวลา เซทตัว ลดปริมาณน้ำในแปลงนาลง ช่วยลดปัญหานาหล่ม
6.หลังจากหน้าดินแตก ก็ค่อยใส่ปุ๋ยลงไปในนา ปุ๋ยจะลงไปในรอยแตกของผิวดิน (crack) เหมือนกับการฝังปุ๋ยไว้ในดิน ทำให้รากข้าวดูดซึมสารอาหารได้เต็มที่ การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพมากขึ้น                         ดีกว่าการหว่านแบบเดิม ที่เม็ดปุ๋ยอยู่หน้าดิน รากไม่เจอปุ๋ย และทำให้รากข้าวลอย มีการคายประจุ ออกไปในอากาศ ข้าวไม่ได้สารอาหารเต็มที่
7.เติมน้ำลงในแปลงนา ปุ๋ยที่อยู่ในดินก็จะละลายน้ำ ต้นข้าวกินปุ๋ยอย่างหิวกระหายทำให้ต้นข้าว        แข็งแรง

ข้อจำกัดและข้อควรคำนึง

1.เปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว ทำได้เฉพาะในพื้นที่ที่ควบคุมน้ำได้
2.ไม่เหมาะสำหรับพื้นที่ดินเค็ม อาจทำให้ข้าวตายได้
3.งดเว้น การปล่อยน้ำให้แห้ง “ช่วงข้าวตั้งท้อง”
4.ปล่อยให้หน้าดินแห้งก่อนการเก็บเกี่ยว 15 วัน
5.ดินที่เหมาะ คือดินที่ ไม่เผาตอฟางข้าว (มีอินทรียวัตถุในดินให้ข้าวเลี้ยงตัวระหว่างหน้าดินแห้ง )


ท่อตรวจวัดระดับน้ำในแปลงนาตามเทคนิคการแกล้งข้าว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น