วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

บุญข้าวสาก บุญเดือนสิบ

บุญข้าวสากของปีนี้ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2556 ชาวนอกกะลาได้มีโอกาสร่วมทำบุญข้าวสากกับพี่น้องชาวอ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และร่วมพุดคุยเกี่ยวกับข้าวอินทรีย์กับกลุ่มพ่อออกแม่ออกที่ไปจำศีล(รักษาอุโบสถศีล)ที่วัดพระธาตุมงคลวนารามและวัดหนองหงษ์ เป็นการต่อยอดหลังจากที่ได้พูดคุยกับกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้านเมื่อวันที่ 17 ที่ผ่านมา







บุญเดือนสิบ บุญข้าวสาก หมายถึงบุญที่ให้พระเณรทั้งวัด จับสลากเพื่อจะรับปัจจัยไทยทาน ตลอดจนสำรับกับข้าว ที่ญาติโยมนำมาถวายและบุญนี้จะทำกันในวันเพ็ญเดือนสิบ จึงเรียกชื่ออีกอย่างว่า "บุญเดือนสิบ"

มูลเหตุที่ทำ
          เพื่อจะทำให้ข้าวในนาที่ปักดำไปนั้นงอกงาม และได้ผลบริบูรณ์ และเป็นการอุทิศส่วนกุศลถึงญาติผู้ล่วงลับ ไปแล้ว

 
พิธีกรรม

ก่อนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ในระยะ 2-3 วัน ต่างก็พากันจัดหาตระเตรียมข้าวของจะทำบุญข้าวสาก เป็นต้นว่า มะพร้าว ฟักเขียว ฟักทอง เผือก มัน กล้วย อ้อย น้ำตาล ปลา กบเขียด กอย(คล้ายหัวมัน) ถั่ว งา หมาก พลู บุหรี่  ครอบครัวใดมีญาติมากและอยู่ต่างบ้านต่างเมืองกันก็ถือโอกาสนำสิ่งของดังกล่าวไปต้อน(ฝาก) กัน หรือ และเปลี่ยนกันเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ปู่ ย่า ตา ยาย ของตน เมื่อเตรียมข้าวของดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ก่อนวันงาน 1 วัน ต่างก็เริ่มข้าวสากกัน บ้างก็ตัดใบตองกล้วยเพื่อห่อข้าวต้ม ข้าวต้มนิยมกันแต่โบราณมีข้าวต้มแดก(เอาข้าวเหนียวนึ่งให้สุกคลุกเข้ากับกล้วยสุก หรือตำใส่ครกจนเข้ากันดีแล้ว ห่อด้วยใบตองกล้วยแล้วมาต้มให้สุก) นอกจากข้าวต้มแดกแล้วมีข้าวต้มผสมด้วยกอย(หัวกอยมีลักษณะเหมือนหัวมัน) ผสมด้วยเผือก มัน ถั่ว นอกจากนั้นจะมีข้าวโต้มโก้น(ข้าวต้มมัดกระบองใส่กล้วยสุกข้างใน)ข้าวต้มนี้ถือเป็นของหวาน นอกจากนั้นจะมีขนมเทียนยัดไส้หวาน เค็ม นอกจากข้าวต้ม ก็มีผลไม้แต่ทำให้สุกคือนึ่งก่อนมี ฟักทองคลุกมะพร้าวผสมด้วยน้ำตาลหรือน้ำอ้อยก้อน

ส่วนของคาวนิยมใช้ปิ้งปลา กบ เขียด เนื้อวัว หมู ไก่ ตามแต่จะหาได้ แล้วมีแก่ว ปลาร้าสับหรือปลาร้าบอง นอกนั้นจะมีบุหรี่ หมากพลู

พอถึงวันต่างก็จัดทำแต่เช้ามืด สิ่งที่ทำมี 2 ประเภท คือ

1. ห่อข้าวใหญ่ ซึ่งต้องเอาไปถวายพระสงฆ์ เอาใบตองกล้วยห่อข้าวเหนียวนึ่งสุกแล้ว ใบห่อข้าวจะห่อปิ้งปลา กบ เขียดและแก่ว มีขนาดกินอิ่ม 1 คน

2.  ห่อข้าวน้อย ซึ่งจะนำไปส่งเปรต หรือผีปู่ย่า ตายาย การห่อแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนหนึ่งใส่ของคาวรวมกับข้าว มีปิ้งปลา โดยมากเป็นอาหารแห้ง แก่วปลาร้า รวมทั้งของหวานมีข้าวต้ม นึ่งฟักทอง เผือก อีกส่วนหนึ่งเป็นของขบเคี้ยว มีบุหรี่ หมากพลูแล้วเย็บติดกัน





เมื่อจัดเรียบร้อยแล้ว พระสงฆ์ทางวัดจะตีกลองให้สัญญาณ ต่างก็จัดสิ่งของต่างๆ ลงในถาด หรือกระจาดมีห่อข้าวใหญ่ ห่อข้าวน้อย ข้าวต้ม ขนม ต่างออกไปวัด ครั้นไปถึงวัดย่อมจัดรวมกันบนศาลาโรงธรรม ครั้นทุกคนมาพร้อมกันแล้วพระสงฆ์จะนั่งบนอาสนะตามอาวุโสเรียบร้อย ทุกคนจะนำเอาห่อข้าวใหญ่ไปจัดไว้ที่ถาดใหญ่หรือสำรับรวมกันมีทั้งขนม ข้าวต้ม ของหวาน ของคาว กองอยู่หน้าพระสงฆ์

จากนั้นก็เริ่มพิธีกรรม มีการไหว้พระสวดมนต์ รับศีลเสร็จแล้วก็ทำเวน ถวายสงฆ์ คือ กล่าวคำถวายข้าวสากพอกล่าวจบ พระสงฆ์กล่าว สาธุ กล่าวอุปโลกน์ จากนั้นก็มีการแจกห่อข้าวแก่ภิกษุสามเณร

หลังจากนั้นก็กล่าวคำเวนห่อข้าวน้อย (คำถวายห่อข้าวน้อย) เพื่อส่งให้แก่ดวงวิญญาณแก่เปรต เมื่อเวนแล้วต่างก็พากันนำเอาห่อข้าวน้อยไปวางตามเจดีย์ ต้นไม้ กิ่งไม้ในบริเวณวัด จากนั้นพระสงฆ์จะอนุโมทนา ต่างก็กรวดน้ำเพื่ออุทิศให้แก่ปุพพเปรตชน ครั้นแล้วต่างก็พากันแย่งชิงเอาห่อข้าวที่ตนวางไว้ เพื่อจะนำเอาไปให้ผีหัวไร่ปลายนา "ผีตาแฮก" ในเรือกสวนไร่นาของตนกินต่อไป อันเป็นศิริมงคลแก่เรือกสวนไร่นา เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสากของชาวอีสาน




สิ่งที่สำคัญของการทำบุญข้าวสาก คือ เพื่ออุทิศส่วนกุศลซึ่งตนนำสิ่งของต่างๆ ไปทานให้แก่สงฆ์ส่วนหนึ่ง และแจกให้แก่เปรตพวกหนึ่ง เชื่อว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณให้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติที่ล่วงลับไปแล้ว

นอกจากนั้นแล้ว ชาวอีสานยังเอาของหวานของคาว ข้าวต้ม ขนมสิ่งต่างๆ แจกจ่าย(ไปส่ง) ให้แก่ญาติอีกด้วย เป็นการเสียสละ สร้างความรักสามัคคี คือ โอกาสเยี่ยมเยียนถามสารทุกข์สุขดิบกันอีกด้วย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 กันายายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น