วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การตรวจตัดพันธุ์ปนครั้งที่ 1

เมื่อต้นข้าวเจริญเติบโตขึ้นมากพอที่จะสังเกตลักษณะที่แตกต่างกันได้แล้ว เราก็ทำการตัดพันธุ์ปนครั้งแรก ด้วยการถอนข้าวลักษณะอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ข้าวสินเหล็กทิ้ง โดยเป็นข้าวที่ต้นมีสีเขียว จากนั้นจะทำการส่ามข้าวบริเวณที่ว่างลงด้วยข้าวสินเหล็กพันธุ์แท้







เป็นการเรียนรู้ร่วมกันของพี่ ๆ พนักงาน และแม่บ้าน เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (learning by doing) เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะประจำพันธุ์ของข้าวสินเหล็กพันธุ์แท้ เพราะพี่ ๆ หลายคนสนใจที่จะปลูกข้าวสินเหล็กในฤดูนาปีของปี 57 นี้ ถ้าถอนมาแล้วพบว่ามีต้นสีม่วงแดงปนมาด้วยก็ทำการดำลงไปคืน 




ส่วนมากแล้วข้าวต้นสีเขียวจะเป็นข้าวเรื้อเพราะเราใช้วิธีการหยอดเมล็ดสำหรับข้าวสินเหล็กพันธุ์แท้ ข้าวสินเหล็กพันธุ์แท้จึงเกิดเป็นกระจุก เป็นระเบียบ ส่วนที่เกิดกระจายทั่วไปจึงเป็นข้าวพันธุ์อื่นที่ต้องถอนทิ้ง



การตรวจตัดพันธุ์ปน (เพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว)

เป็นการปฏิบัติเพื่อควบคุมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตในแปลงขยายพันธุ์ โดยตรวจสภาพต้นพืชที่ปลูกอยู่ในแปลงขยายพันธุ์ว่ามีลักษณะตรงตามพันธุ์พืชปลูกที่ต้องการเพียงใดหรือมีต้นพืชพันธุ์อื่นขึ้นปะปนอยู่ จึงควรต้องมีการตรวจตัดสินแปลงขยายพันธุ์อย่างเป็นทางการอย่างน้อย 1 ครั้ง ในระยะที่สามารถประเมินลักษณะประจำพันธุ์ที่ถูกต้องได้ดีที่สุด โดยทั่วไปแล้ว แนะนำให้เกษตรกรตรวจตัดพันธุ์ปนเพื่อเตรียมแปลงขยายพันธุ์ให้ได้มาตรฐานแปลงขยายพันธุ์ก่อนการตรวจสอบคุณภาพแปลงขยายพันธุ์ โดยคณะกรรมการตรวจแปลงขยายพันธุ์อย่างเป็นทางการ เพื่อตรวจแปลงขยายพันธุ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานแปลงขยายพันธุ์หรือไม่ ตลอดจนให้คำแนะนำเพื่อดำเนินการแก้ไขให้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งการกำจัดข้าวพันธุ์ปน อาจทำไปพร้อมกับการกำจัดวัชพืชและการตรวจโรคแมลงในแปลงขยายพันธุ์ ซึ่งสามารถทำได้ในระยะต่างๆ ดังนี้

          1. ระยะกล้า ตรวจดูความแตกต่างของสีใบ ความสูง สีลำต้น ทรงต้น มุมของใบกับลำต้นและใบที่แสดงอาการเป็นโรค (ข้อพิจารณาเพิ่มเติม การเตรียมแปลงกล้าควรไถหมักดินไว้ อย่างน้อย 10-15 วัน แปลงกล้าไม่ควรมีพืชพันธุ์อื่น แปลงกล้าต้องห่างจากแปลงพันธุ์ข้าวอื่น อย่างน้อย 3 เมตร ถอนกล้าโดยเว้นรอบขอบแปลงอย่างน้อย 50 เซนติเมตร)
         2. ระยะแตกกอ ตรวจดูความแตกต่างของความสูง ลักษณะและสีของใบ สีลำต้น ทรงกอ การแตกกอ มุมของใบกับลำต้น ต้นที่เป็นโรคหรือมีลักษณะที่ผิดปกติและข้าววัชพืช
          3. ระยะออกดอก ตรวจดูลักษณะช่อดอก ช่วงเวลาการออกดอกก่อนหรือหลังเมื่อทำการเปรียบเทียบกับต้นพืชพันธุ์ที่ปลูก สีของรวง ความสูงของรวง การชูรวง ความยาวของคอรวง ลักษณะมุมและสีของใบธง และทรงของกอข้าวที่ต่างกัน
          4. ระยะโน้มรวง ตรวจดูความแตกต่างของสีเมล็ดและรวงข้าว ลักษณะและความยาวของหางคอรวง ลักษณะของเมล็ดและรวงข้าวที่แตกต่างกัน ลักษณะการโน้มของรวงข้าวและลักษณะการตั้งของใบธง
          5. ระยะก่อนเก็บเกี่ยว ตรวจดูความแตกต่างของต้นข้าวและเมล็ดข้าวเปลือกที่มีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากต้นข้าวพันธุ์ที่ปลูกก่อนทำการเก็บเกี่ยว

        การตรวจตัดข้าวปนที่ดีจะทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้สามารถผ่านขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวตามมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าวที่กำหนด ดังนี้

       - ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่บริสุทธิ์ตรงตามพันธุ์ไม่ต่ำกว่า 95 %
       - สิ่งเจือปนไม่เกิน 5 %
       - ถ้ามี ข้าวแดง / ข้าวเหนียวปน ไม่เกิน 0.2 %
       - เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้ผ่านการทดสอบความงอก จะต้องมีความงอกไม่ต่ำกว่า 85 % 
       - มีความชื้นเมล็ดพันธุ์ 14 %

ขอบคุณข้อมูลจาก 

http://www.brrd.in.th/rkb/manual/index.php-file=content.php&id=50.htm
http://brs.ricethailand.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=8&Itemid=113


เก็บข้อมูลวันพุธที่ 12 กุมภาพันธุ์ 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น