วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วัชพืชในนาข้าว

ผลของความแห้งแล้ง จากฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาลทำให้ไม่มีน้ำขังในแปลงนา วัชพืชชนิดต่าง ๆ จึงกำลังเติบโต การกำจัดวัชพืชนี้จะใช้วิธีการถอนด้วยมือซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีกำจัดวัชพืชแบบวิธีการเขตกรรมอันสอดคล้องกับแนวทางเกษตรอินทรีย์

หญ้าหวาย
เซ่งใบมน
ถั่วผี
สาบม่วง
ไมยราพ
ผักเบี้ยหิน
ผักงวงช้าง
ตำลึงทอง
หญ้าปากควาย
หญ้าตีนนก
หญ้ารังนก
โสนคางคก
โสนอัฟริกัน
ผักเสี้ยนผี

ลูกใต้ใบ
โทงเทง
ขี้กา
กกทราย
เทียนนา
หญ้านกสีชมพู

















การกำจัดวัชพืชด้วยวิธีเขตกรรม (cultural control)
          เป็นวิธีการที่เกษตรกรทั่ว ๆ ไปปฏิบัติสืบกันมาแต่โบราณแต่ยังเป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพแม้จนปัจจุบัน วิธีการเหล่านี้มีหลายอย่าง ได้แก่

          1) การถอน  เกษตรกรมักดายหญ้าต้นสูง ๆ ออก หรือที่เรียกว่า ทำรุ่น(เอาฮุน) โดยใช้มีด จอบ หรือเสียม หากวัชพืชต้นเล็กใช้การถอนออก ซึ่งเหมาะสำหรับสวนที่มีเนื้อที่น้อย ๆ และวัชพืชนั้นเพิ่งเริ่มงอก รากหยั่งดินยังไม่ลึก ถ้าเป็นวัชพืชที่มีอายุข้ามปี การใช้มือถอนจะทำให้รากขาด ถ้าทิ้งไว้รากจะงอกขึ้นมาใหม่ การถอนวัชพืชควรรดน้ำให้ดินแฉะเสียก่อนจะทำให้ถอนง่ายขึ้น เช่น หญ้าแห้วหมูที่ขึ้นแซมในแปลงผัก หากถอนเมื่อดินแข็งต้นมักขาด หัวยังคงอยู่ในดินสามารถงอกใหม่ได้ ควรรดน้ำเสียก่อน เวลาถอนหัวหญ้าแห้วหมูจะได้ติดมาด้วย การใช้มือถอนควรทำก่อนที่วัชพืชออกดอก ในแปลงนาถ้าพอมีน้ำขังบ้าง หรือมีความชื้นสูงเช่นหลังฝนตก ควรหมั่นตรวจดูแปลงนาและถอนหญ้าทิ้งเพราะดินจะอ่อนตัว สามารถถอนหญ้าขึ้นทั้งกอได้ง่าย

          2) การขุดโดยใช้มีด จอบ และเสียม เครื่องมือเหล่านี้เป็นเครื่องมือของเกษตรกรใช้ถางขุดทำลายวัชพืช ทำได้ตั้งแต่ไร่ขนาดเล็กถึงไร่ขนาดใหญ่ แต่ต้องมีแรงงานพอที่จะทำการขุดหรือถาง การใช้จอบหรือเสียม รากของวัชพืชจะถูกขุดขึ้นมาด้วย และถ้าตากดินทิ้งไว้รากจะแห้งตาย เช่น หญ้าแห้วหมู หญ้าคา ส่วนการถางหญ้านั้น เป็นเพียงตัดต้นวัชพืชเฉพาะส่วนที่อยู่บนดินเท่านั้น ส่วนที่อยู่ใต้ดินยังคงอยู่และจะแตกเป็นต้นใหม่อีกเมื่อได้รับความชื้น ดังนั้น ควรขุดหรือถางพื้นดิน แล้วเก็บวัชพืชทิ้ง ซึ่งเป็นวิธีทำลายวัชพืช และเป็นการพรวนดินให้แก่พืชที่ปลูกอีกด้วย สำหรับนาข้าวการกำจัดวัชพืชบนคันนาก็เป็นสิ่งจำเป็นเพราะถ้าปล่อยให้วัชพืชเติบโตจนออกดอก เมล็ดวัชพืชก็จะร่วงหล่นลงแปลงนาเป็นปัญหาต่อการทำนาอีกต่อไป

          3) การใช้เครื่องมือทุ่นแรงในการเกษตร เช่น  การใช้รถแทรกเตอร์ไถหรือพรวนดิน ก่อนลงมือปลูกพืช นอกจากเป็นการเตรียมดินแล้ว ยังทำให้จำนวนวัชพืชลดลงได้มาก รากวัชพืชบางชนิดหยั่งดินลึก การไถพรวนตื้นไม่สามารถกำจัดได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของดิน ถ้าดินแห้งไถพรวนได้ตื้น  ถ้าดินชื้นไถพรวนได้ลึก  สามารถไถได้ลึก 8 - 10 นิ้ว การไถดะ(ฮุดนา)ก่อนทำนาก็เป็นการกำจัดวัชพืชแบบเขตกรรมที่ทำสืบกันมา

          4) การใช้เครื่องตัดหญ้าหรือกรรไกรตัดหญ้า เป็นการทำให้วัชพืชต้นเตี้ยลง ยอดใบถูกทำลายไม่เจริญดีเท่าที่ควร หมั่นตัดอย่าให้วัชพืชเจริญเป็นต้นสูง มิฉะนั้นแล้ววัชพืชจะผลิตดอกออกผล ช่วยแพร่กระจายพันธุ์อีกด้วย ปัจจุบันมีเครื่องตัดหญ้าที่ทุนแรงคน ทำให้สะดวกสบายมากขึ้น แต่สำหรับคนรุ่นปู่ย่าตายายที่มีวิถีชีวิตแบบชาวนา จะมีเครื่องตัดหญ้าที่มีชีวิต ไม่ใช้น้ำมัน คือวัวควายที่เลี้ยงเพื่อใช้แรงงานในไร่นา โดยจะต้องคอยดูอยู่ใกล้ ๆ ไม่ให้กัดกินต้นข้าว

          5) การใช้น้ำขังให้ท่วมแปลง เป็นวิธีการกำจัดวัชพืชอีกวิธีหนึ่ง โดยการปล่อยน้ำให้ท่วมพื้นที่เป็นระยะเวลา 1-2 เดือน ซึ่งควรเป็นระยะเวลาว่างจากการเพาะปลูกพืชผลในฤดูแล้ง ข้อสำคัญต้องให้น้ำนั้นท่วมถึงยอดต้นวัชพืช ก่อนขังน้ำควรมีการไถพรวนดินเสียก่อน เป็นการทำลายต้นและเมล็ดวัชพืช  ทำให้จำนวนวัชพืชลดลง หรือในทางตรงกันข้าม หากวัชพืชเป็นไม้น้ำเมื่อระบายน้ำออกจากแปลงต้นจะแห้งตาย

          6) การให้ร่ม อาจจะใช้ฟาง แกลบ หรือกระดาษคลุมดิน เพื่อป้องกันมิให้ต้นวัชพืชได้รับแสงและจะตายไปในที่สุด ในต่างประเทศได้ใช้กระดาษคลุมดินแปลงอ้อยและสับปะรดกันมาก ปัจจุบันดัดแปลงเป็นแผ่นพลาสติกสีดำใช้คลุมดินเพื่อป้องกันวัชพืช ในประเทศไทยใช้ฟางข้าวและแกลบคลุมดิน  นอกจากจะรักษาความชื้นของดินแล้ว   ยังเป็นการกำจัดวัชพืชอีกด้วย เรายังพบการใช้ใบไม้คลุมแปลงสตรอว์เบอร์รี่ในเขตภาคเหนือ ที่เกษตรกรประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาและวัสดุท้องถิ่นมาคลุมแปลงสตรอว์เบอร์รี่ขนาดพื้นที่หลายไร่อย่างมานะ เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้อย่างดีและใบไม้เหล่านั้นเมื่อย่อยสลายก็จะกลายเป็นปุ๋ยในดินต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น