วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ข้าวปลูกลูกแนว

พันธุ์ข้าวที่ทางโรงเรียนใช้ในการทำนาในพื้นที่นาเช่าของฤดูทำนาปี 2556 นี้ มี 3 สายพันธุ์คือข้าวสินเหล็ก ข้าวหอมมะลินิลและข้าวดอ ข้าวหอมนิลสุรินทร์เป็นข้าวที่เราปลูกเมื่อปีที่แล้วและเก็บพันธุ์ไว้เอง ข้าวสินเหล็กเป็นพันธุ์ข้าวที่จัดซื้อมาใหม่จากบริษัทแห่งหนึ่ง ส่วนข้าวดอคือข้าวเหนียวพันธุ์เบา เป็นข้าวพันธุ์พื้นบ้านจัดหามาจากอ.หนองหงส์


ผลจากการสุ่มตัวอย่างของข้าวสินเหล็กพบการปนของพันธุ์ข้าว ถึง 5 สายพันธุ์ คือ ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ข้าวมะลิแดง ข้าวหอมนิลสุรินทร์  และข้าวเมล็ดสีแดงป้อมสั้นที่ไม่ทราบชื่อ   ข้าวจากบ.แห่งนี้ มีที่มาจาก 4 แหล่งผลิต แหล่งแรกเป็นข้าวรุ่นแรกที่สั่งซื้อมาเมื่อเดือนมกราคมพบการปนมากที่สุด แหล่งที่สองจำหน่ายหมดแล้วจึงไม่มีข้อมูล แหล่งที่สามบรรจุในกระสอบที่พิมพ์ตัวอักษรสีน้ำตาล พบการปนมากเป็นอันดับสอง แหล่งที่สี่บรรจุในกระสอบที่พิมพ์ตัวอักษรสีน้ำเงิน พบการปนน้อยที่สุด(เหมาะจะใช้เป็นข้าวพันธุ์)


แต่หลังจากข้าวงอกไปแล้วจนอายุครบ  2 สัปดาห์ ข้าวในแปลงที่หว่านข้าวสินเหล็กที่มีการปนมากที่สุด เราพบลักษณะของต้นข้าวที่ต่างกัน คือ พบต้นข้าวที่กาบใบสีม่วงแดง บางต้นพบรอยประสีม่วงดำแต้มที่ใบแท้ คาดว่าจะเป็นต้นข้าวที่งอกจากเมล็ดข้าวสีม่วงดำหรือข้าวหอมนิลสุรินทร์ ส่วนในแปลงข้าวหอมนิลสุรินทร์ ยังไม่พบความแตกต่างของต้นข้าว แม้ว่าข้าวหอมนิลสุรินทร์ที่เราใช้เป็นข้าวพันธุ์จะมีการปนของข้าวขาวอยู่ด้วยทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า แต่ตอนนี้ต้นข้าวยังมีสีเขียวเหมือนกันหมด






จากการที่เราซื้อพันธุ์ข้าวมาจำหน่ายในฤดูการผลิตนี้ เราได้พันธุ์ข้าวที่ปนมาเยอะมากและมีข้าวลีบปนมาถึงร้อยละ 6.45 เป็นการย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงภูมิปัญญาชาวนาที่เคยสั่งสมมาและเราได้มองผ่านไป โดยหันไปเชื่อถือมาตรฐานทางวิชาการสมัยใหม่ เราจึงควรมองย้อนกลับไปพินิจดูรากเหง้าของวิถีข้าวแบบดั้งเดิมที่ปู่ย่าตายายคัดข้าวปลูกลูกแนวเอาไว้เองคล้ายกับเป็นมรดกประจำตระกูลที่แต่ละบ้านจะมีข้าวที่ถูกรสของตนเองเอาไว้ปลูกต่อ ๆ กันมา จากรุ่นสู่รุ่น ไม่เคยทิ้งข้าวแนวของตระกูลตน ถ้าอยากได้ข้าวของบ้านอื่นไปเอาแนวก็ต้องแลกกันตวงต่อตวง การคัดข้าวแนวนั้นมีทั้งคัดทีละต้นในแปลงนาที่เลือกแล้วว่าจะใช้เป็นข้าวแนว ไปจนถึงคัดทีละรวงในฟ่อนข้าวที่เกี่ยวด้วยมือและนวดข้าวแนวด้วยมือ

ปีนี้เราประสบปัญหาความแห้งแล้ง ทางโรงเรียนจึงปรับเปลี่ยนการทำนาจากเดิมที่เคยทำนาดำมาทำนาหว่าน โดยถือว่าปีนี้แล้งมากที่สุดเท่าที่เคยประสบมา นักเเรียนของเราจะไม่ได้ร่วมดำนาเหมือนที่ผ่านมา แต่เราก็จะสร้างโอกาสอื่น ๆ ให้นักเรียนได้เข้าร่วมเรียนรู้การทำนาอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะเราเชื่อว่าการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจะสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถ่องแท้ให้แก่เด็ก ๆ ของเรามากกว่าการพร่ำสวดบทพิจารณาอาหารที่ท่องกันเป็นประจำ ทำให้เด็ก ๆ เข้าใจถึงความยากลำบากในการทำนา สำนึกคุณข้าวทุกเมล็ดและขอบคุณชาวนาที่ปลูกข้าวให้ทุกคนกิน

2 ความคิดเห็น:

  1. ผลจากการสุ่มตัวอย่างของข้าวสินเหล็กพบการปนของพันธุ์ข้าว ถึง 5 สายพันธุ์ คือ ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ข้าวมะลิแดง ข้าวหอมมะลินิล และข้าวเมล็ดสีแดงป้อมสั้นที่ไม่ทราบชื่อ
    จากการบอกเล่ามา ข้าวเมล็ดสีแดงป้อมสั้น ทางภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่
    เรียกว่า ข้าวแปกแซม ครับ

    ตอบลบ