วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

นาปรังข้าวสินเหล็กพันธุ์แท้ อายุ 6 สัปดาห์

ครบ 6 สัปดาห์แล้วสำหรับนาปรังข้าวสินเหล็กพันธุ์แท้ ข้าวที่ส่าม(แซม)ไว้ต้นแข็งแรงดี คาดว่ารากใหม่กำลังเจริญ ความสูงและสียังไม่เปลี่ยนแปลงจากกล้า 





ข้าวในส่วนที่คัดไว้ 1200 ต้นส่วนมากก็กำลังเจริญเติบโต บางต้นแตกกอ บางต้นตายไปก็ส่ามลงไปใหม่ ตายเพราะต้นกล้าเล็ก เตี้ย และจมอยู่ใต้น้ำ




แหนแดงบางบริเวณมีสีแดง บางบริเวณสีเขียว อัตราการเจริญเติบโตยังต่ำกว่าที่เลี้ยงในบ่อเพาะ พบลูกอ๊อดคางคกจำนวนมาก อาจเป็นสาเหตุที่แหนแดงเจริญเติบโตไม่ดีเพราะลูกอ๊อดอาจกินแหนแดงต้นเล็กเป็นอาหาร



พบขุยไส้เดือนกระจายทั่วแปลงนา แสดงถึงไส้เดือนเข้ามาอาศัยอยู่และขยายพันธุ์ในแปลงนา ไส้เดือนย่อยสลายซากพืชและขับถ่ายมูลออกมาเป็นปุ๋ยให้ต้นข้าวอีกทางหนึ่ง เราพบขุยไส้เดือนทั่วไปในแปลงนาโรงเรียนเมื่อฤดูนาปีที่ผ่านมาเพราะเป็นผืนนาอินทรีย์ไม่เคยใช้สารเคมีใด ๆ เลยตลอดช่วงเวลาสิบปีที่ทำนา แต่ไม่พบขุยไส้ดือนในแปลงนาเช่าเพราะเป็นปีแรกที่ทำนาอินทรีย์ ก่อนหน้านี้ผู้เช่าคนก่อนทำนาแบบทั่วไปที่ใช้ปุ๋ยเคมี




ไส้เดือนดิน ( Earthworm )

     Phylum    :  Annilida
     Class       :  Oligochaeta
     Family      :  Lumbricidae  
     Genus      :  Pheretima
     Species    :  posthuma  และ  peguana  (ไส้เดือนดินที่พบมากในประเทศไทย)


ลักษณะทั่วไป

     1. จัดเป็นผู้บริโภค ( consumer ) ระดับ Scarvenger กินเข้าไปย่อยภายใน
     2. มีลำตัวเป็นปล้อง ๆ ( Segmentation ) มีเยื่อ Cuticle คลุมผิวหนัง
     3. ผิวหนังบางชื้นใช้หายใจได้ เคลื่อนไหวโดยใช้เดือยรอบ ๆ ปล้อง ( Seta )
     4. ปล้องที่ 14, 15, 16 เรียกว่า Clitellum สร้างปลอกหุ้มไข่ ( Cocoon )
     5. เป็นกระเทยที่แท้จริง สร้างได้ทั้งไข่และอสุจิแต่ผสมกันในตัวเองไม่ได้
     6. มีกึ่น ( Gizzard ) ช่วยในการย่อยอาหาร
     7. มีอวัยวะขับถ่ายเรีบกว่า Nephridia ขับของเสียที่เป็นของเหลวออกทางรูผิวหนัง
     8. มีหัวใจเทียม ( pseudoheart ) อยู่ระหว่างปล้องที่ 8 - 13
     9. มีเลือดสีแดง Hemoglobin อยู่ในน้ำเลือด ( Plasma )
     10. มีเส้นประสาททางด้านท้อง Ventral nerve cord


ดินขุยไส้เดือนหรือมูลของไส้เดือน ( Cast ) เป็นดินที่ไส้เดือนขึ้นมาขับถ่ายออก กองไว้รอบ ๆ รู ตั้งเป็นแท่งทรงกลม ซึ่งจากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าดินขุยไส้เดือนอุดมไปด้วยจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตรวมทั้งสารชีวะเคมีที่มีประสิทธิภาพช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนั้นเมื่อ ปี พ ศ 2545 ได้มีรายงานการวิจัยพบสารฮอร์โมนสำคัญเพื่อการเจริญเติบโตของพืชในมูลไส้เดือนดินเพิ่มขึ้นจากเดิม มูลไส้เดือนนอกจากจะมีคุณสมบัติในการปรับปรุงโครงสร้างของดินและให้ธาตุอาหารแก่พืชเหมือนปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์ทั่วไปแล้ว มูลไส้เดือนยังมีสิ่งที่เหนือกว่าปุ๋ยทั่วไปดังนี้ 

      1. มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์แก่พืชอยู่เป็นจำนวนมาก
      2. มีฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของพืช (growth hormones) และโฮโมนที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เช่น ออกซิน (auxins) ,จิบเบอริลิค แอซิด (gibberellic acid), ไคเนติน (kinetins)และไซโตไคนิน (cytokinin) 
      3. มีเอนไซม์ต่างๆเช่น เอนไซม์ย่อยฟอสแฟต (phosphates) เอนไซม์ย่อยเซลลูโลส (cellulase) และไคติเนส (kitinase)

ปัจจุบันวิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มเข้าใจความสำคัญของสารอินทรีย์เหล่านี้ว่าทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่นกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์พืช  ทำให้รากรับอาหารไปใช้ การหันหน้าของดอกไม้เข้ารับแสงแดด ควบคุมความยาวของเซลล์และแม้กระทั่งทำหน้าที่เป็นสารต้านการแก่ตัวของพืชไม่ให้เน่าเปื่อยเร็ว   นอกจากนั้นยังค้นพบว่ามีเอนไซม์ไคติเนส (kitinase) ซึ่งสามารถละลายไคตินสารชีวะเคมีชนิดหนึ่งที่ประกอบกันเป็นเปลือกชั้นนอกของแมลง ด้วยเหตุนี้มูลไส้เดือนดินจึงมีฤทธิ์ในการขับแมลงด้วย (insect repellent)

โดยไส้เดือนดินที่อยู่ตามผิวดินหรือใต้ซากอินทรีย์จะมีประสิทธิภาพในการย่อยสารอินทรีย์ในดินได้ดีกว่า และมีการขยายพันธุ์ที่รวดเร็วกว่าด้วย โดยทั่วไปในธรรมชาติไส้เดือนดินมีอายุที่ยาวนาน ตั้งแต่ 4 -10 ปีขึ้นอยู่กับชนิดของไส้เดือนดิน แต่เมื่อนำมาเพาะเลี้ยงมักพบว่าไส้เดือนดินมีอายุสั้นลง โดยทั่วไปจะมีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 2 ปี


การเก็บมูลไส้เดือน

       1. มูลไส้เดือนมีลักษณะเป็น ขุยดินร่วน อยู่ด้านบนของที่อยู่ไส้เดือน
       2. เก็บมูลปุ๋ยไส้เดือนโดยใช้มือโกยขุยดินที่อยู่ด้านบนของที่อยู่ไส้เดือน ออกมาใส่ภาชนะ แล้วนำไปตากแดด โดยคัดเอาตัวไส้เดือนออกจากกองขุย ทั้งหมด ตากแดดไว้ประมาณ 30 – 40 นาที แล้วนำไปผึ่งลมในที่ร่ม 30 นาที เพื่อไม่ใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือนแห้งเกินไป
       3. จากนั้นนำไปแปรรูป เช่นการอัดเม็ด หรือ เก็บไว้เลยก็ได้ ปุ๋ยนี้จะมีจุลลินทรีย์ ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์


ประโยชน์และการนำมาใช้

       1. ปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน จะมีอนุภาคละเอียด จึงสลายตัวได้ตามกระบวนการทางชีวภาพ เกิดธาตุอาหารหลัก และธาตุอาหารรอง จุลธาตุนี้จะง่ายต่อการดูดซับผ่านรากของพืช ได้ง่ายและรวดเร็ว
       2. มีฮิวมัส และจุลินทรีย์ ที่เป็นประโยชน์ต่อดิน และต่อพืช ช่วยทำให้ดินร่วนซุย
       3. แม้จะใช้ปริมาณน้อย แต่มีประสิทธิภาพสูงมาก
       4. ใช้ได้กับ ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ใบ ไม้กระถาง สนามหญ้า พืชผักสวนครัวทุกชนิด ไม้ผล นาข้าว 
       5. โรยปุ๋ยชนิดนี้ประมาณ 200 – 300 กรัม ต่อต้น ทุก 7 - 15 วัน หลังใส่ ควรพรมน้ำเล็กน้อยก่อน เพื่อให้ปุ๋ยจับตัวกัน แล้วจึงรดน้ำตามปกติ
       6. สำหรับนาข้าว นำไปใช้ก่อนไถกลบ ประมาณ 30 – 50 กิโลกรัม / ไร่ จะสามารถปรับสภาพดินให้มีความสมบูรณ์ ดินร่วนซุย และ ป้องกันการเกิดโรคใบไหม้ในนาข้าวได้


ขอบคุณขัอมูลจาก
http://sutir.sut.ac.th:8080/sutir/bitstream/123456789/3910/1/Fulltext+SUT1-104-50-36-57.pdf
http://home.kku.ac.th/pracha/Earthworm%20Culture.htm
http://www.baanmaha.com/community/thread44435.html



เก็บข้อมูลวันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2557

วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2557

เยี่ยมนาพี่ตู่ นาปรังข้าวสินเหล็กพันธุ์แท้ใช้พันธุ์ข้าวของโรงเรียน

ติดตามการเจริญเติบโตของข้าวที่พี่ตู่ พนักงานของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา นำพันธุ์ข้าวสินเหล็กพันธุ์แท้ไปปลูกในฤดูนาปรังปีนี้ ซึ่งข้าวพันธุ์นี้ ผ่านการคัดระดับรวง แต่เนื่องจากใช้หลายคนคัด ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้ยังมีการปนอยู่บ้างร้อยละ 5 คิดเป็นเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ร้อยละ 95 พี่ตู่ได้รับพันธุ์ข้าวสินเหล็กพันธุ์แท้นี้ไป 56 กก. หว่านน้ำตม 3 แปลงนา และใช้พันธุ์ข้าวสินเหล็กที่ปลูกเองเมื่อปีที่แล้วและเก็บพันธุ์ไว้หว่านอีก 3 แปลง คลองส่งน้ำอยู่สูงกว่าแปลงนา การเอาน้ำเข้านาจึงเป็นเพียงการเปิดประตูระบายน้ำ จากนั้นน้ำก็จะไหลลงสู่แปลงนาที่อยู่ต่ำกว่า ในส่วนของแปลงนาเองก็อาศัยความสูงของพื้นที่ ระบายน้ำจากแปลงที่อยู่สูงลงสู่แปลงที่อยู่ต่ำกว่า เอาน้ำเข้าสัปดาห์ละครั้ง ตอนนี้ต้นข้าวอายุหนึ่งเดือน  ความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร มีใบแท้ 3-4 ใบ บางต้นแตกกอแล้ว








พันธุ์ข้าวที่ได้มายังมีข้าวปน ดังนั้นพี่ตู่จึงทะยอยถอนต้นที่ปนอยู่ออกให้เหลือเพียงต้นที่เป็นข้าวสินเหล็กพันธุ์แท้ ซึ่งมีกาบสีม่วงแดง






ระบบคลองส่งน้ำที่อยู่สูงกว่าแปลงนา ทำให้สะดวกต่อการเอาน้ำเข้านา โดยต้นทางน้ำคือลำมาศ



ลำมาศ ต้นทางของน้ำ


 ในพื้นที่ใกล้เคียงกันนั้นก็มีการทำนาปรังตลอดแนวคลองส่งน้ำ





 เก็บข้อมูลเมื่อวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2557

วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

เกี่ยวลูกข้าวและคัดข้าวแนวสินเหล็กพันธุ์แท้

ในช่วงสองสามสัปดาห์นี้ จะมีกิจกรรมผู้ปกครองอาสา ในตอนเช้าจะทำกิจกรรมกับเด็กในชั้นเรียน ตอนบ่ายจะได้ร่วมบำเพ็ญประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งแนวทางหลักคือจะได้ร่วมกันคัดข้าวแนวสินเหล็กพันธุ์แท้ เพื่อตอกย้ำถึงควมสำคัญของเมล็ดพันธุ์ที่ดี อันจะนำไปสู่ข้าวอินทรีย์ที่มีคุณภาพ






ลูกข้าวสินเหล็กในแปลงที่ 10 และ 11 นั้น ก็สุกพร้อมจะเกี่ยวแล้ว ข้าวแปลงนี้มีข้าวสินเหล็กพันธุ์แท้เยอะที่สุด เราจึงจะเกี่ยวลูกข้าวมาเก็บไว้ หากนาปรังไม่ประสบผลสำเร็จ อย่างน้อยเราก็จะเหลือพันธุ์แท้ไว้ส่วนหนึ่งสำปรับปลูกในฤดูนาปี 57 นี้






หลังจากเกี่ยวลูกข้าวแล้ว ก็นำมาคัดรวงเพื่อเอาเฉพาะรวงข้าวสินเหล็กพันธุ์แท้ โดยกลุ่มผู้ปกครองอาสา เราพยายามหาพันธุ์ข้าวสินเหล็กพันธุ์แท้จากหลายแหล่ง แต่หายากมาก จึงต้องเกี่ยวลูกข้าวสินเหล็กพันธุ์แท้เหล่านั้นมาเก็บไว้ด้วย ข้าวสินเหล็กพันธุ์แท้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการคัดข้าวแนวของเราเอง






มูลนิธิข้าวขวัญได้พยายามคิดค้นเทคนิคการคัดพันธุ์ข้าวอย่างง่าย ที่ไม่ยากต่อการสื่อสารกับชาวนา ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีการ ตั้งแต่วิธีการอย่างง่าย เช่น การคัดพันธุ์ข้าว และวิธีการที่ต้องอาศัยความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ เช่น วิธีการผสมพันธุ์ข้าวและการปลูกคัดเลือกพันธุ์ข้าวหลังการผสม ซึ่งวิธีการคัดพันธุ์ข้าวไปจนถึงการผสมพันธุ์ข้าว ชาวนาสามารถเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง 

การคัดพันธุ์ข้าว

การคัดพันธุ์ข้าวเป็นความรู้ที่ชาวนาสั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การทำนาแต่ก่อนชาวนาคัดพันธุ์ข้าวให้ตอบสนองต่อการบริโภคในครัวเรือนของตนรวมทั้งการใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ข้าวสายพันธุ์เม็ดเล็กใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ ข้าวเหนียวสำหรับแปรรูปอาหาร ดังนี้เป็นต้น ตัวอย่างพันธุ์ข้าวดังในอดีตที่มาจากการคัดพันธุ์ของชาวนา เช่น ข้าวเหลืองอ่อน ข้าวเจ๊กเชย ข้าวขาวกอเดียว ข้าวขาวตาแห้ง ฯลฯ  การทำนาแต่เดิมเป็นแบบนาดำ ใช้ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน และใช้เมล็ดพันธุ์จำนวนไม่มาก แต่เมื่อการทำนาเปลี่ยนไป ข้าวพันธุ์พื้นบ้านไม่ตอบสนองต่อการทำนาแบบสมัยใหม่ที่มุ่งขายเป็นหลัก เมื่อมีการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวเป็นข้าวพันธุ์ส่งเสริม ชาวนาไม่ให้ความสำคัญกับการคัดพันธุ์ข้าวดังที่เคยทำมาในอดีต ซึ่งทำให้คุณภาพของข้าวที่ชาวนาปลูกมีคุณภาพต่ำลง  การซื้อเมล็ดพันธุ์และการข้าวใช้พันธุ์ส่งเสริมยังทำให้ต้นทุนการทำนาสูงขึ้นอีกด้วย

การเรียนรู้เรื่องเทคนิคการคัดพันธุ์ข้าวจะทำให้เราได้สายพันธุ์ข้าวที่มีความบริสุทธิ์ทางสายพันธุ์ มีความสม่ำเสมอทั้งคุณภาพและรสชาติการหุงต้ม สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น หากมีการปรับเปลี่ยนเป็นการทำนาแบบไม่ใช้สารเคมีก็จะทำให้ลดต้นทุนการทำนาลง

การคัดพันธุ์ข้าวมีหลายวิธีการคัดพันธุ์ข้าวแบบดั้งเดิมที่ชาวนาเคยทำกันมา คือการคัดเลือกข้าวจากแปลงนาที่ไม่มีโรคและแมลงรบกวน ไม่มีข้าวพันธุ์อื่นขึ้นปน  และการคัดเลือกเก็บรวงที่สมบูรณ์ไว้สำหรับทำพันธุ์ แต่วิธีการดังกล่าวก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพของเมล็ดข้าว เช่น ปัญหาท้องไข่ ความมันวาว เม็ดร้าว เม็ดบิดเบี้ยว ข้าวปน เป็นต้น จึงมีการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น เทคนิคการคัดพันธุ์ข้าวกล้องเป็นเทคนิคใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิข้าวขวัญ  จากการทดลองในพื้นที่ของมูลนิธิฯ และเครือข่ายชาวนากลุ่มแสงตะวัน จังหวัดพิจิตร พบว่าสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพข้าวและสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวต่อพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
           
1. การคัดพันธุ์ข้าวจากรวง

 ขั้นตอน
     1. เกี่ยวพันธุ์ข้าวที่ต้องการในแปลงนา โดยเลือกต้นที่ห่างจากพันธุ์อื่นๆ 1-2 เมตร ตามปริมาณที่ต้องการ
     2. นำรวงข้าวที่เกี่ยวมาแล้วมาผึ่งแดด 2-3 แดด
     3. หลังจากนั้นนำมาคัดเลือกรวงที่มีลักษณะรวงใหญ่ ยาว เมล็ดสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยของโรคหรือแมลงรบกวน
     4. นำรวงที่คัดเลือกแล้วมานวดรวมกัน ตากแดด 1-2 แดด แล้วจัดเก็บใส่ถุงเพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อไป


2. การคัดพันธุ์ข้าวในแปลงนา

ขั้นตอน
     1. เลือกแปลงนาที่มีข้าวเจริญเติบโตดีไม่มีโรคและแมลงรบกวน
     2. ไม่มีข้าวพันธุ์อื่น ขึ้นมาปน
     3. เลือกเก็บรวงที่มีการติดเมล็ดดีตะแง้ถี่รวงยาวคอรวงใหญ่มีลักษณะตรงตามแต่ละพันธุ์ที่เลือกเก็บ
     4. ในการเก็บเกี่ยวเพื่อทำพันธุ์นั้น ให้เกี่ยวรวงข้าวที่อยู่ห่างจากขอบแปลงข้างละ 1 เมตร เพื่อป้องกันการปนกับข้าวอื่นๆเก็บประมาณ 200 รวง ต่อหนึ่งพันธุ์หรือให้เพียงพอกับความต้องการในแต่ละพันธุ์
     5. นำรวงข้าวไปนวดหรือตากแดด ประมาณ 1-2 แดด หรือ ความชื้น ประมาณ 14% หลังจากนั้นบรรจุเมล็ดในภาชนะที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ถุงผ้า กระสอบ เป็นต้น
     6. เขียนชื่อพันธุ์ อายุการเก็บเกี่ยว

*  การทำเช่นนี้ 1-2 ฤดูการผลิต จะทำให้เกษตรกรสามารถรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีไว้ได้ หรืออาจได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่จากการคัดเลือกเช่นนี้ได้

3. การคัดพันธุ์จากข้าวกล้อง

3.1 การแกะข้าวกล้องด้วยมือ
     ขั้นตอน
     1. นำเมล็ดข้าวเปลือกสายพันธุ์ที่ต้องการมาประมาณครึ่งกิโลกรัม
     2. ฝัดทำความสะอาดเพื่อให้เมล็ดลีบออกไป
     3. แกะเปลือกด้วยมือโดยแกะจากทางด้านหางของเมล็ดข้าวเพื่อไม่ให้จมูกข้าวถูกทำลาย
     4. เลือกข้าวกล้องเมล็ดสมบูรณ์ตรงตามสายพันธุ์ และเมล็ดมีความมันวาว ไม่เป็นโรค ไม่เป็นท้องไข่หรือท้องปลาซิวให้ได้จำนวนประมาณ 100 เมล็ด
     5. นำเมล็ดข้าวกล้องที่คัดเลือกได้ไปเพาะเป็นต้นกล้า


3.2 การกะเทาะด้วยเครื่องสีข้าวกล้อง

     ขั้นตอน
    1. นำเมล็ดข้าวเปลือกพันธุ์ที่ต้องการมาประมาณ 1-2 กิโลกรัม
    2. ฝัดทำความสะอาดเพื่อให้เมล็ดลีบออกไป
    3. นำข้าวเปลือกไปสีด้วยเครื่องสีข้าวกล้อง
    4. นำข้าวกล้องที่สีได้มาฝัด
    5. เลือกข้าวกล้องเมล็ดสมบูรณ์ตรงตามสายพันธุ์ และเมล็ดมีความมันวาว ไม่เป็นโรค ไม่เป็นท้องไข่หรือท้องปลาซิวให้ได้จำนวนตามที่ต้องการ
    6. นำเมล็ดข้าวกล้องที่คัดเลือกได้ไปเพาะเป็นต้นกล้า

ที่มา 
http://www.khaokwan.org/


เก็บข้อมูลเมื่อวันจันทร์ ที่ 20 และวันพุทธที่ 22 มกราคม 2257