วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

ข้าวกับวิถีชีวิตคนไทย


        วิถีชีวิตคนไทย และคนในเอเชีย นับแต่อดีตมุ่งปลูกข้าวเพื่อบริโภคเป็นหลัก เหลือเก็บในยุ้งฉางก็จะนำไปแลกเปลี่ยนกับปัจจัยอื่นๆ บ้าง ที่จำเป็นจริงๆ เช่น เสื้อผ้า ยารักษาโรค หรืออาหารประเภทอื่นๆ แต่ไม่นิยมขายข้าว ไม่แลกเปลี่ยนข้าวกับเครื่องมือประหัตประหาร เพราะคนไทยเชื่อว่าข้าวเป็นสิ่งที่มีบุญคุณ มีจิตวิญญาณ มีพระแม่โพสพประจำอยู่ ข้าวเป็นอาหารในบริโภคเท่านั้น ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ


        อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมจากหลากหลายประเทศได้เข้ามา และยุคสมัยก็ทำให้ข้าวเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการค้าขายมากขึ้น จนปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่มีการทำนาหลายครั้งได้ในรอบปี ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่มุ่งทำนาเพื่อ
ขายข้าวเป็นหลัก โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น เช่น รถแทรกเตอร์ ปุ๋ยเคมี เพื่อให้ได้ผลผลิตเร็วที่สุด และมากที่สุด โดยไม่ได้คำนึงถึงระบบนิเวศ และจารีตประเพณีที่สืบต่อกันมา

        ย้อนกลับไปถึงการทำนา หรือการปลูกข้าว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมไทยที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ และการทำนาก็ต้องพึ่งพาธรรมชาติ คนในเกษตรสังคมจึงให้ความสำคัญและเคารพธรรมชาติ ทำให้มีพิธีกรรมและความเชื่อมากมาย ทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตข้าว มีทั้งพิธีกรรมส่วนครอบครัว ส่วนชุมชน ส่วนชุมชนที่พระมหากษัตริย์และราชการจัดขึ้น เป็นการปลูกฝังพฤติกรรมทางจริยธรรม ผูกจิตวิญญาณของคนไทยไว้กับข้าวจนเกิดเป็นวัฒนธรรม

“ข้าว” สร้างวัฒนธรรมไทย


       คนไทยบริโภคข้าวอย่างมีระเบียบวิธี และมีลักษณะเฉพาะ เช่น กระบวนการแปรรูปข้าวเพื่อการบริโภค โดยทำให้ข้าวสุกด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การหุงต้ม การนึ่ง การหลาม เป็นเหตุให้มีความต้องการภาชนะที่แตกต่างกัน ส่วนอาหารที่คนไทยบริโภคควบคู่กับข้าวนั้น เราก็เรียกว่า “กับข้าว” ทำให้เกิดวัฒนธรรมในการจัดแต่งสำรับทั้งข้าวและกับข้าวอีกด้วย

        ข้าวถูกนำมาใช้ในวัฒนธรรมด้านภาษาโดยเป็นสำนวนเปรียบเทียบ คำพังเพย หรือสุภาษิตต่างๆ เช่น ข้าวแดงแกงร้อน ข้าวใหม่ปลามัน ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร ทุบหม้อข้าว ทำนาบนหลังคน ข้าวยากหมากแพง ข้าวนอกนา เป็นต้น ข้าวยังอยู่ในเพลงร้องต่างๆ หรือคำทักทายง่ายๆ ของคนไทย เช่น “ไปไหนมา กินข้าวหรือยัง?” อีกด้วย

        ข้าวมีความสำคัญในการกำหนดศักดินา เช่น ในสมัยสุโขทัย มีการกำหนดที่นาและไพร่ให้เสนาบดีขุนนาง ตามความสามารถในการบุกเบิกที่ดินทำกิน มีการจัดตั้ง “กรมนา” ขึ้นเพื่อรับผิดชอบด้านการเกษตรโดยตรง ต่อมากลายเป็นกระทรวงพานิชการในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน

วัฒนธรรมข้าวพื้นบ้าน กับวัฒนธรรมข้าวสมัยใหม่

        วิถีการดำเนินชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อแนวความคิดที่มีต่อข้าว เพราะแต่เดิมเราปลูกข้าวเพื่อบริโภค วิธีการต่างๆ จึงเป็นวิธีการที่อยู่ร่วมได้กับธรรมชาติ ความรู้ก็เกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมกันมาเป็นมรดกตกทอด มีการใช้แรงงานสัตว์ เก็บเกี่ยวนวดด้วยเครื่องมือพื้นบ้าน ใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ย กำจัดศัตรูพืชและวัชพืชโดยการถอนหรือใช้สมุนไพร ใช้คราด ไถ มีด พร้า จอบ เคียว เป็นเครื่องมือ หากแต่ในปัจจุบันวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก ในการปลูกข้าวเพื่อค้าขาย อีกทั้งแนวคิดหลักของการปลูกข้าวได้เปลี่ยนไป ทำให้วิธีการเปลี่ยนไปด้วย โดยการใช้เครื่องจักรกลเตรียมดิน ใช้ปุ๋ยเคมีบำรุงต้นกล้า ใช้สารเคมีและเครื่องจักรในการกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช ปลูกข้าวพันธุ์ผสม ทดน้ำด้วยระบบชลประทานสมัยใหม่ แน่นอนว่าแต่ละวิธีการย่อมต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป หากแต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เทคโนโลยีไม่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นได้ก็คือ จิตวิญญาณของคนที่มีต่อข้าวนั่นเอง


แหล่งที่มาของข้อมูล: สารานุกรมภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย -ภูมิปัญญาข้าวไทย จัดทำโดย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)

วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

ถั่วเขียว โรงเรียนนอกกะลา

หลังจากที่เสร็จจากฤดูการเกี่ยวข้าวของโรงเรียนนอกกะลา ก็มีการเตรียมดินให้พร้อมก่อนที่จะถึงฤดูของการทำนา โดยการไถกลบตอซังข้าว จะไม่ใช้วิธีการจุดไฟเผา จากนั้นก็นำเมล็ดถัวเขียวไปหว่านให้ทั่วแปลงนา ใช้ระยะเวลาประมาณ 60-70 วัน ก็จะสามารถเก็บถั่วเขียวได้ เมื่อเก็บผลผลิตเสร็จแล้วก็จะทำการไถกลบอีกครั้งจะได้ปุ๋ยพืชสด


เก็บถั่วเขียวโรงเรียนนอกกะลา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ช่วยกันคนละไม้ละมือร่วมกันเก็บถัวเขียวก่อนจะไถกลบทำปุ๋ยพืชสด นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง


โรงเรียนนอกกะลา